‘EEC’ กางแผนดึงลงทุน 5 แสนล้านใน 5 ปี ทำ ‘Fast Track’ ดึงอุตฯเป้าหมายลงทุน
"อีอีซี" ตั้งเป้าดึงลงทุนจริง 5 แสนล้านบาท เพิ่มจีดีพีใรพื้นที่ 6.3% กางแผนขับเคลื่อน 5 แผนงาน ดัน Fast Track Lane ทำให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ได้จริงตามเป้าหมาย
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2566 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นกรรมการและเลขานุการ การประชุมฯ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดจำนวนเงินการลงทุนจริงในพื้นที่ ระหว่างปี2566 - 2570 เพิ่มขึ้น รวม 5 แสนล้านบาท (เฉลี่ย 100,000 ล้านบาทต่อปี) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่
อีอีซี (GPCP EEC) ขยายตัว 6.3% ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีรายได้ และคุณภาพชีวิตดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป็นเป้าหมายการเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัยของประชากรและนักลงทุนทั่วโลก
เพิ่มการลงทุนจริงในอีอีซีให้ได้ 1 แสนล้านบาท
นายจุฬา กล่าวต่อว่าสำหรับตัวเลขการลงทุนปีละ 1 แสนล้านบาทในพื้นที่อีอีซีนั้นเป็นตัวเลขที่มีการประเมินแล้วว่าอีอีซีจะผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลคำขอส่งเสริมการลงทุนปีละประมาณ 2 แสนล้านบาทในพื้นที่อีอีซีจะมีการลงทุนจริงประมาณ 6 – 7 หมื่นล้านบาท แต่อีอีซีจะเพิ่มการลงทุนให้ได้ปีละ 1 แสนล้านบาท
โดยกลไกที่จะสนับสนุนให้มีการลงทุนจริงคือจะทำมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติม เช่น การที่สามารถให้อีอีซีมีการเจรจากับการลงทุนให้สามารถลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 สาขา และลดภาษีเงินได้นิติบุคลได้สูงสุด 15 ปี โดยจะต้องมีการเจรจาเป็นรายๆ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์สูงสุดที่จะให้ได้ รวมถึงสามารถขอใช้เงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่รัฐบาลจะเพิ่มวงเงินเป็น 1 แสนล้านบาทได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
นอกจากนี้กพอ. ได้พิจารณาเห็นชอบ และรับทราบการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในเรื่องสำคัญๆ ได้แก่ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 – 2570 มีแนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง ประกอบด้วย
- ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต
- เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
- ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ
- เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน
สำหรับแนวทางการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยอยู่ระหว่างจัดทำ ร่างประกาศ กพอ. เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการกิจการ มี 5 หลักการที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการภาครัฐ การเจรจาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ การบูรณาการการทำงาน ระหว่างหน่วยงาน และการติดตามตรวจสอบ ทั้งนี้ ในการเจรจาสิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบกิจการ คณะกรรมการจะ
พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ แผนการลงทุน รวมถึงระยะเวลาเริ่มการลงทุนหรือประกอบกิจการ ความสำคัญของกิจการต่อ Supply chain และ Value chain มูลค่าเงินลงทุนที่ใช้ในการประกอบกิจการ การใช้ทรัพยากรในประเทศ ระดับเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการ การถ่ายทอดความรู้ และการช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ
นอกจากนี้ การสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่อีอีซี ที่ประชุม กพอ. ได้รับทราบ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเพิ่มศักยภาพมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และประชาชน โดยแนวทางบริหารจัดการน้ำที่สำคัญ ๆ สกพอ. ได้ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน การนิคมอุตสาหกรรม กรมธนารักษ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการบริหารจัดการน้ำภาพรวมในพื้นที่อีอีซี อาทิ การสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม กำหนดแนวทางการสูบผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำภาครัฐ
การอนุญาตให้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่สร้างเสร็จแล้วในจังหวัดจันทบุรี มาที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยองได้ทันทีหากเกิดกรณีขาดแคลนน้ำ การขยายโครงข่าย ท่อน้ำดิบ ท่อผันน้ำและท่อเชื่อมอย่างบูรณาการ โดยมีการตั้งอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อกำกับดูแลความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่อีอีซีได้อย่างต่อเนื่อง