ธุรกิจ ‘Circular Economy’ เทรนด์ธุรกิจอนาคตเพื่อความยั่งยืน
ธุรกิจ ‘Circular Economy’ ขึ้นแท่นดาวเด่น รับเทรนด์อนาคตโลก เผย ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 3.39 แสนล้านดอลลาร์ คาดพุ่งขึ้นกว่า 2 เท่าในปี 2569 มูลค่า แตะ 7.13 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ธุรกิจ‘Circular Economy’ ในไทยมีเพียง 0.15% พบย้อนหลัง 3 ปี กำไรเพิ่มขึ้นทุกปี ชี้ ตลาดยังเปิดกว้าง
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน พบว่า การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อโลกในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาและรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ จึงก่อให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และการบริโภค ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ทำให้ผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง
“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ข้อมูลด้านการตลาดและอุตสาหกรรม Statista ระบุว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 3.39 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2569 เป็นประมาณ 7.13 แสนล้านดอลลาร์ จากตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มตลาดและการบริโภคของผู้บริโภคยุคใหม่ได้เปิดรับสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลจาก Ellen MacArthur Foundation (EMF) ที่กล่าวถึงโอกาสสําคัญต่อภาคธุรกิจที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ โอกาสในการทํากําไร โอกาสด้านความมั่นคงและความยืดหยุ่นของอุปทานที่มีเพิ่มขึ้น และโอกาสจากความต้องการที่มีต่อโมเดลธุรกิจบริการในรูปแบบใหม่ และ โอกาสในการขยายความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าใหม่
ทั้งนี้ภาครัฐและภาคเอกชนควรติดตามและใช้ประโยชน์จากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่หากนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ จะได้ประโยชน์ทั้งในด้านการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การค้า และการให้บริการ ตลอดจนมีโอกาสในการสร้างรายได้จากการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆที่สอดคล้องกับแนวโน้มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ พบ ธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ ‘Circular Economy’ เป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง อยู่ภายใต้โมเดล BCG ที่เข้ามากำหนดความยั่งยืนของโลกการค้ายุคปัจจุบัน จะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ในอนาคตโดยขณะนี้โมเดล BCG เข้ามามีบทบาทต่อความยั่งยืนของธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ตระหนักถึงการเลือกซื้อสินค้าที่มาจากผู้ผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงคู่ค้าหรือนักลงทุนทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ยึดหลัก BCG มาใช้ในการผลิตสินค้าด้วย
“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีธุรกิจ Circular Economy ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 1,908 ราย คิดเป็น 0.21% ของธุรกิจทั้งหมด มีมูลค่าทุนจำนวน 32,395 ล้านบาท คิดเป็น 0.15% ของธุรกิจทั้งหมด ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดจำนวน 1,544 ราย คิดเป็น 81.45% มูลค่าทุนจำนวน 27,406 ล้านบาท และห้างหุ้นส่วนจำกัดจำนวน 348 ราย คิดเป็น 18.24% มูลค่าทุนจำนวน 523 ล้านบาท และบริษัทมหาชน จำกัด จำนวน 6 ราย คิดเป็น 0.31% มูลค่าทุนจำนวน 4,466 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ต.ค. 2566)
หากพิจารณาผลประกอบการของธุรกิจย้อนหลังไป 3 ปี ระหว่างปี 2563-2565 รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2563 มีรายได้รวม 40,154 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้รวม 58,449 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.56% จากปีก่อนหน้า และปี 2565 มีรายได้รวม 67,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.18% จากปีก่อนหน้า
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ Circular Economy เป็นดาวเด่นคือ เป็นธุรกิจที่ตลาดยังเปิดกว้าง การแข่งขันยังไม่สูงมีนิติบุคคลเพียง 1,908 ราย เมื่อพิจารณาจากรายได้ย้อนหลังไป 3 ปี เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นจังหวะที่รอนักลงทุนไทยคว้าโอกาสนี้ รวมถึงภาครัฐและกรมฯ ยังให้การสนับสนุนธุรกิจอย่างเต็มที่ พร้อมรองรับเทรนด์ธุรกิจสีเขียวของโลกที่จะสร้างความมั่งคงให้ธุรกิจในอนาคต
“ธุรกิจ Circular Economy หรือ ธุรกิจ CE ในประเทศไทยถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจหน้าใหม่ ยังอยู่ในช่วง ของการลงทุนกับสินทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักซึ่งรอผลกำไรตอบแทนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ” นางอรมน ระบุ
การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นผลดีต่อประเทศ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดันอย่างจริงจังก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยและกระตุ้นให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืน