'คมนาคม' ปักธงปีหน้าประมูลเมกะโปรเจกต์ 14 โครงการ 5.7 แสนล้านบาท

'คมนาคม' ปักธงปีหน้าประมูลเมกะโปรเจกต์ 14 โครงการ 5.7 แสนล้านบาท

“คมนาคม” กางแผนลงทุนเมกะโปรเจกต์ 72 โครงการต่อเนื่องปี 2566 – 2570 ประเดิมปีหน้าเข็น 14 โครงการเร่งด่วนตอกเสาเข็มก่อน คาดผลักดันเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจกว่า 5.7 แสนล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเร่งรัดทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ร่วมขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ตามนโยบาย Quick win 2567 - 2568 โดยระบุว่า ตนได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เร่งรัดการดำเนินโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมในทุกมิติ เพื่อเป็นกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และเศรษฐกิจของประเทศ

โดยขณะนี้ได้กำหนดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะดำเนินการเร่งรัดตลอดในช่วงปี 2566 - 2570 รวม 72 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนด้วยงบประมาณประจำปี และโครงการเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) และหลังจากนี้กระทรวงฯ จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในวันที่ 20 - 21 ธ.ค.66 นี้ เพื่อกำหนดแผนงาน และรายละเอียดการดำเนินงานผลักดันโครงการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาข้อมูลในเบื้องต้น พบว่าปัจจุบันมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ดำเนินก่อสร้าง และจะเปิดให้บริการในปี 2567 จำนวน 9 โครงการ ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - หัวหิน, รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร, ทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ศูนย์เปลี่ยนถ่ายเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 1

 

 

 

โครงการมอเตอร์เวย์ บางใหญ่ - กาญจนบุรี ที่จะเปิดทดลองให้บริการ, Smart Pier แม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 5 ท่าเรือ ประกอบด้วย ปิ่นเกล้า พระราม 5 ปากเกร็ด เกียกกาย และพระราม 7, อาคารผู้โดยสารสนามบินกระบี่ รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ และสะพานไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ)

ขณะที่โครงการเตรียมเปิดประมูล และจะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2567 มีจำนวน 14 โครงการ วงเงินลงทุนรวมกว่า 5.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1.รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร คาดเริ่มก่อสร้างในเดือนเม.ย.2567

2.สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี งานโยธา ฝั่งตะวันตก และงานระบบวงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างในเดือนพ.ค.2567

3.ขยายช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา - บ.เมืองใหม่ ค่าก่อสร้าง 510 ล้านบาท ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเดือนส.ค.2567

4.Service Center ศรีราชา บน M7 ช่วงชลบุรี - พัทยา วงเงินลงทุน 1,615 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนส.ค. 2567

5.Service Area บางละมุง บน M7 ช่วงพัทยา - มาบตาพุด วงเงินลงทุน 766 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนส.ค. 2567

6.ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนก.ย.2567

7.ทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล. 402 กับ ทล 4027 และ ทล. 4025 วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนก.ย.2567

8.สายสีแดงช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6,468 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนก.ย.2567

9.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา วงเงิน 10,670 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนก.ย.2567

10.รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี วงเงิน 37,527 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนก.ย.2567

11.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช วงเงิน 4,694 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนก.ย.2567

12.ทางพิเศษ กะทู้ - ป่าตอง วงเงิน 14,670 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนต.ค.2567

13.ทางพิเศษสายจตุโชติ - ถนนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 วงเงิน 24,060 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนพ.ย.2567

14.รถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน นครราชสีมา - หนองคาย วงเงิน 300,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนธ.ค.2567

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์