‘กองทุนหมู่บ้าน’ คิกออฟ ‘SML’ ก.พ.นี้ ดันงบฯ 1.2 หมื่นล้าน ลงระบบเศรษฐกิจ
“บอร์ดกองทุนหมู่บ้าน” คิกออฟโครงการ “เอสเอ็มแอล” ก.พ.นี้ ให้ชุมชนประชาคม เสนอโครงการ คาดกดปุ่มเงิน 1.2 หมื่นล้านบาททยอยลงในพื้นที่ตั้งแต่ มี.ค.ปีนี้ “ประเสริฐ” ชี้ไอเดีย “ทักษิณ” ซื้อโดรนพ่นยา ปุ๋ย ในชุมชน ทำได้ คาดช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนให้ชาวบ้าน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.68 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมฯมีมติเห็นชอบในหลักการ การจัดสรรเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านตามเกณฑ์ของโครงการจัดสรรเงินงบประมาณให้กับหมู่บ้านขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ หรือโครงการ “เอสเอ็มแอล” ในวงเงินหมู่บ้านละ 3 – 5 แสนบาท รวมวงเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทโดยงบประมาณในส่วนนี้ได้มีการจัดสรรไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 แล้ว
ทั้งนี้ขั้นตอนการอนุมัติวงเงินของแต่ละหมู่บ้านจะต้องผ่านการประชาคมจากกองทุนหมู่บ้านก่อนเพื่อให้ได้ข้อสรุปของแต่ละชุมชน หมู่บ้านว่าจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการใดโดยคาดว่าจะมีการคิกออฟโครงการให้มีการทำประชาคมหมู่บ้านในช่วงประมาณเดือนก.พ.ปีนี้ จากนั้นชุมชน หมู่บ้านจะเสนอโครงการมาให้คณะกรรมการ กทบ.พิจารณา คาดว่าชุมชน หมู่บ้านจะได้เงินก้อนแรกลงไปยังชุมชนประมาณเดือน มี.ค.ปีนี้
“โครงการกองทุนหมู่บ้านถือว่าเป็นโครงการที่สร้างรายได้ และแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร พี่น้องประชาชนที่เป็นกองทุนหมู่บ้าน ส่วนการที่จะเพิ่มทุนหรือไม่ รัฐบาลอยากให้กองทุนนี้อยู่ยั่งยืน และใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นกองทุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนที่จะสามารถเพิ่มทุนได้หรือไม่ ขึ้นกับสำนักงบประมาณด้วยในการที่จะเพิ่มทุนลงไปได้หรือไม่”
เมื่อถามถึงความเห็นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีแนวคิดที่สนับสนุนให้ใช้โดรนทางการเกษตรเพื่อใช้พ่นยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ในพื้นที่เกษตร จะสอดคล้องกับการที่ชุมชนนำเงินที่ได้จากโครงการเอสเอ็มแอลไปใช้ได้หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้จำกัด หรือตีกรอบทางความคิดของพี่น้องประชาชนหรือเกษตรกร แต่หากมีการนำโดรนมาเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ก็เป็นสิ่งที่ดี
เพราะงานวิจัยของกระทรวงดีอีก็พบว่าราคาของโดรนอยู่ที่ 3-5 แสนบาท หากชาวบ้านมีความต้องการที่จะนำโดรนมาใช้ก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ทั้งนี้เป็นความต้องการของแต่ละชุมชน ซึ่งอาจมีการนำโดรนมาใช้ และเช่าหมุนเวียนในพื้นที่นำเอาค่าเช่ามาใช้เป็นค่าบำรุงรักษาโดรนก็ถือว่าทำได้เช่นกัน
นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงโครงการโคเงินล้าน ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่อยู่ภายใต้กองทุนหมูบ้านว่าที่ประชุมเห็นชอบโครงการนี้โดยจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านที่จะเข้าร่วมโครงการรายละไม่เกิน 50,000 บาท
สำหรับนำไปซื้อโคซึ่งเกษตรกรสามารถที่จะซื้อกี่ตัวก็ได้ในวงเงินกู้ที่ได้รับ โดยกองทุนฯส่งเสริมให้ซื้อ 2 ตัวเพื่อให้เกิดการขยายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์