การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย ความเสี่ยงหรือความกลัว?

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย ความเสี่ยงหรือความกลัว?

ท่ามกลางข่าวนโยบายดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท ที่ทำให้รัฐต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม จนมีการพูดกันกว้างขวางในหลายเดือนที่ผ่านมาถึงความเสี่ยงที่ประเทศไทยอาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศ

ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นที่พึงแลกเปลี่ยนดังนี้ครับ

อันดับความน่าเชื่อถือประเทศ หรือ Sovereign credit rating มีหลายประเภท เช่น อันดับหนี้สกุลเงินในประเทศ อันดับหนี้สกุลเงินต่างประเทศ แต่ละประเภทยังแบ่งออกเป็นระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงอาจมีชื่อเรียกไม่เหมือนกันในแต่ละบริษัทจัดอันดับ

แต่ในที่นี้ เราจะใช้อันดับความน่าเชื่อถือหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign currency long term rating) ซึ่งถือเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่สะท้อนต้นทุนการระดมทุนในตลาดทุนโลก

การปรับขึ้นหรือลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศ หรือเรทติ้งประเทศ ถือเป็นเรื่องใหญ่โตในตลาดทุนโลก ไม่ใช่เรื่องจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ปัจจัยบวกหรือปัจจัยลบจะต้องสั่งสม ยั่งยืนหรือยืดเยื้ออย่างยาวนาน รวมถึงต้องพิจารณาคู่เทียบในเรทติ้งเดียวกันด้วย

การปรับเรทติ้งครั้งล่าสุดของประเทศไทย ต้องย้อนไปไกลถึงปี 2003 และ 2004 หมายความว่า ในระยะเวลาที่ผ่านไปร่วม 20 ปี เราได้ผ่านวิกฤติและความผันผวนสารพัด ยังไม่เคยถูกปรับลด

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย ความเสี่ยงหรือความกลัว?

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นอย่างยิ่งในระยะร่วม 20 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้รับการปรับขึ้นเช่นกัน นั่นย่อมมีนัยว่า เรทติ้งในปัจจุบัน เป็นพื้นที่รองรับความผันผวนเปลี่ยนแปลงของสถานะประเทศได้กว้างมากพอควร

บริษัทจัดอันดับจะมีการติดตามและออกรายงาน Rating report เป็นระยะ เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบพัฒนาการของสถานะของแต่ละประเทศ รวมทั้งความเห็นอย่างเป็นทางการของตนเอง

ซึ่งเร็ว ๆ นี้ หลังข่าวนโยบายดิจิทัลหมื่นบาท บริษัทจัดอันดับทั้ง 3 ก็ได้ทยอยออกรายงาน Rating report ว่าด้วยสถานะของประเทศไทย และแสดงท่าทีต่อนโยบายที่ว่า

S&P เป็นรายล่าสุดที่ออก Rating report เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งผู้เขียนขอสรุปรวมความว่า มีปัจจัยสำคัญ ๆ ราว 4 เรื่องที่บริษัทจัดอันดับใช้พิจารณาเรทติ้งประเทศ ดังนี้

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย ความเสี่ยงหรือความกลัว?

1.ปัจจัยสถานะทางการคลัง (Public finance) เช่น ดุลงบประมาณ หนี้สาธารณะ เป็นต้น ความเห็นของบริษัทจัดอันดับทั้งหลาย ก็มองในมุมเดียวกัน กล่าวคือ เห็นว่างบประมาณจะขาดดุลมากกว่าคาด และจะใช้เวลานานขึ้นกว่าเดิมกว่าที่สถานะการคลังจะที่กลับมาแข็งแกร่งได้

2.ปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic) เช่น ขนาดเศรษฐกิจ การขยายตัวของเศรษฐกิจ ความหลากหลายในเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นจุดอ่อนของประเทศไทยในความเห็นของบริษัทจัดอันดับ เพราะการขยายของเศรษฐกิจต่ำ และรายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำ

3.ปัจจัยธรรมาภิบาล (Governance) ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองและนิติรัฐ รวมถึงการแบ่งแยกและถ่วงดุลของหน่วยงานด้านนโยบาย ประเด็นนี้บริษัทจัดอันดับมองเป็นบวกเล็กน้อย โดยมีการระบุว่า ประเทศไทยทำได้ดีกว่าคู่เทียบในภูมิภาคเดียวกัน

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย ความเสี่ยงหรือความกลัว?

4.ปัจจัยสถานะการเงินต่างประเทศ (External finance) ประเด็นนี้ทุกบริษัทจัดอันดับเห็นตรงกันว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สะสมมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หนี้ต่างประเทศที่มีน้อยมาก การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นต้น

นอกจากการประเมินจากตัวเลขแล้ว บริษัทจัดอันดับจะต้องมีการพบปะกับกระทรวงการคลัง (ทำนองเดียวกันกับพบปะกับบริษัท) เพื่อสอบถาม ทำความเข้าใจแนวโน้ม แสดงข้อกังวล รับฟังคำอธิบายหรือแนวทางการแก้ไข

และส่งสัญญานถึงการปรับเปลี่ยน ก่อนจะสะท้อนออกสู่สาธารณะผ่าน Rating report ด้วยการเปลี่ยน “แนวโน้ม” หรือ Outlook เสียก่อน หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ขั้นตอนถัดไปจึงจะเป็นการปรับอันดับ

มาถึงจุดนี้ น่าจะกล่าวได้ว่า ปัจจัยลบเรื่องสถานะการคลังก็เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยลบ ซึ่งก็ต้องต้องพิจารณาร่วมกับปัจจัยบวกอื่น ๆ สถานะการคลังจึงไม่น่าจะเป็นเพียงหนึ่งปัจจัยเดียวที่จะชี้ขาดทิศทางอันดับความน่าเชื่อถือ

หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยลบต่อประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่จะถึงระดับที่จะนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเลยหรือไม่ ย่อมเป็นที่ถกเถียงได้ ย่อมเป็นข้อกังวลที่พึงรับฟัง

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย ความเสี่ยงหรือความกลัว?

แต่จากการอ่าน Rating report ของบริษัทจัดอันดับทั้ง 3 ซึ่งให้ข้อมูลโดยละเอียด โดยหลีกเลี่ยงการอ่านระหว่างบรรทัด ผู้เขียนยังเห็นว่า ความเห็นที่ว่านโยบายดิจิตอลหมื่นบาทจะนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศเป็นการด่วนสรุปไป

ทั้งนี้ ประเทศก็ไม่ต่างจากบริษัท หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจะต้องนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจให้ได้ ไม่ต่างจากบริษัทที่สร้างหนี้เพื่อผลักดันให้ผลกำไรเติบโต และอยู่ในงบดุลที่สมดุล รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทจัดอันดับ (รวมทั้งตลาดทุนและสาธารณะ) ว่าความสมดุลเหล่านี้จะยังดำรงอยู่ได้ และแข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้ในอนาคต

ในโอกาสต่อไป ผู้เขียนจะลองประเมินผลกระทบดูครับ ว่าถ้าประเทศไทยถูกปรับลดเรทติ้งจริง ๆ (ซึ่งย้ำอีกทีว่าผู้เขียนไม่ได้เชื่อเช่นนั้น) กล่าวคือลดจาก Baa1 เป็น Baa2 ในกรณี Moody’s และลดจาก BBB+ เป็น BBB ในกรณีของ S&P ผลกระทบต่อต้นทุนในการระดมเงินทุนในตลาดทุนโลกจะกระทบแค่ไหน และกับใครบ้าง.

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย ความเสี่ยงหรือความกลัว?

คอลัมน์ World of Rates

สงวน จุงสกุล 

ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส

สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)