ปตท.ชะลอแผนลงทุนเมียนมา จับตาสถานการณ์ไม่สงบ
ปตท.รับกลุ่มธุรกิจมีชะลอการลงทุนเพิ่มเติมในเมียนมา แต่ไม่กระทบการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน โดยยังคงนำเข้าก๊าซฯ ได้ตามปกติ "โออาร์" เผยแผนขยายลงทุนเมียนมาชะงักหลังมาตรการแซงชั่น แต่ยังคงแบรนด์ไว้ในประเทศ อยู่ระหว่าง wait and see ชี้เมียนมา ยังมีศักยภาพเติบโต
เศรษฐกิจของเมียนมาชะลอตัวมาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รายงานว่าเศรษฐกิจเมียนมาปี 2563 ขยายตัว 3.2% แต่ในปี 2564 ที่เกิดรัฐประหารและความวุ่นวายในประเทศ เศรษฐกิจติดลบ 17.9% ส่วนปี 2565 เศรษฐกิจ 0.06%
ในขณะที่ปี 2566 ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะ 2.49% แต่เป็นประมาณการณ์ก่อนเกิดการสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและหลายฝ่ายกังวลว่าจะนำมาสู่สถานการณ์ “รัฐล้มเหลว”
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ในปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจของกลุ่ม ปตท. โดยกลุ่ม ปตท.ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมา 2 ด้านหลัก คือ
1.ธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ของบริษัท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งยังคงจัดส่งก๊าซได้ตามปกติเพื่อความมั่นคงของประเทศ
2.ธุรกิจน้ำมัน ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ปัจจุบันได้เปิดสาขาร้านกาแฟอเมซอนและมีการก่อสร้างคลังน้ำมันและคลังก๊าซ LPG แต่ต้องชะลอการลงทุน เพียงแต่ไม่มีการลงทุนอะไรเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ถึงกับถอนการลงทุน
อนึ่ง ประเทศไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาตั้งแต่ปี 2541 ในปัจจุบันนำเข้าที่ปริมาณ 965 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยรับก๊าซจากแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาปริมาณ 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นประมาณ 10% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทย ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ในอุตสาหกรรม และภาคขนส่งในรูปของ NGV เช่นเดียวกับก๊าซฯ จากอ่าวไทย และ LNG
ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2565 สัดส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 4,177 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบด้วย การจัดหาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศ ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แหล่งก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซีย และแหล่งก๊าซธรรมชาตบนบก ปริมาณ 2,334 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
รวมถึงการนำเข้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติจากสหภาพเมียนมา (16%) และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณ 1,843 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนการจัดหาจากแหล่งในประเทศและต่างประเทศร้อยละ 56 : 44
นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งภายในของเมียนมาในปัจจุบันทำให้สหรัฐและประเทศพันธมิตรยังคงดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในตอนนี้บริษัทจึงยังไม่มีการเพิ่มเงินลงทุนในโปรเจ็กต์ที่ได้ดำเนินการไปแล้วในเมียนมา 2 โครงการ ได้แก่
1.โครงการร่วมทุนกับ บริษัท Brighter Energy (BE) ตั้งแต่ปี 2562 โดยถือหุ้นในสัดส่วน 35% เพื่อประกอบธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นคลังน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเมียนมา มีความจุรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล และมีความจุแอลพีจี รวม 4,500 เมตริกตัน
2.โครงการร่วมทุนกับบริษัท Brighter Energy Retail โดยจะนำแบรนด์ของโออาร์เข้ามาทำตลาดในเมียนมา ได้แก่ สถานีบริการน้ำมันและก๊าซแอลพีจี และร้านคาเฟ่ อเมซอน
“ทั้งนี้ โออาร์จะไม่มีการชำระทุนเพิ่มเติมในโครงการ BE โดยยังคงสนับสนุนพันธมิตรในด้านการให้ความรู้ การฝึกบุคคลากรและให้ผู้ถือหุ้นดำเนินการต่อเอง ขณะที่การเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอนในเมียนมายังมีเปิดให้บริการอยู่ในสำนักงานปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ซึ่งย้ายมาจากโลเคชั่นเดิมที่เกิดเหตุปะทะขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการคงความรับรู้ถึงแบรนด์”
ในระหว่างนี้จึงเป็นช่วงที่บริษัทจะยังอยู่ในช่วงนิ่งและรอ (wait and see) เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยยังไม่มีแผนจะถอนการลงทุน แต่จะรอจนกว่าจะมีการปลดแซงชั่น
“หากไม่มีเรื่องการรัฐประหารและสงครามภายในเมียนมาถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังมีศักยภาพในการลงทุน เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีปริมาณการบริโภคน้ำมันสูง อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เมียนมายังมีความเสี่ยงสูงสำหรับนักลงทุน”