Egg Board เคาะแผนป้องราคาไข่ผันผวน ปี67นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ 4.4 แสนตัว
บอร์ดไก่ไข่ วางมาตรการการปลดไก่ไข่ตามอายุที่เหมาะสม ป้องราคาไข่ไก่ผันผวน พร้อมเห็นชอบแผนนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ปี 67 พ่อแม่พันธุ์ (PS) จำนวน 440,000 ตัว
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ครั้งที่3/2566 ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์ มาตรการและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปลดไก่ไข่ตามอายุที่เหมาะสม
ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะลงนามในประกาศเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป เพื่อให้การบริหารจัดการปริมาณการผลิตไข่ไก่และผลิตภัณฑ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จากปัญหาราคาไข่ไก่ผันผวน
โดยขอความร่วมมือฟาร์มไก่ไข่ทุกแห่งปลดระวางไก่ไข่ยืนกรงไม่เกินอายุที่กรมปศุสัตว์ประกาศกำหนด ทั้งนี้ ยกเว้นกรณีที่กรมปศุสัตว์มีประกาศกำหนดระยะเวลาให้มีการยืดการเลี้ยงที่เหมาะสมตาม สถานการณ์การผลิตและการบริโภคไข่ไก่ภายในประเทศ รวมถึงฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงไก่ไข่ต่ำกว่า 30,000 ตัว และไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธะสัญญา ฟาร์มไก่ไข่ของหน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา หรือสถาบันวิจัย ฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงในรูปแบบอื่น ๆ เช่น เลี้ยงปล่อย ปศุสัตว์อินทรีย์ ไม่ใช้กรง หรือการเลี้ยงไก่ไข่สำหรับวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการจำหน่ายเชิงพาณิชย์
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มติเห็นชอบแผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ (GP และ PS) ปี 2567 ประกอบด้วย ไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์(GP) จำนวน 3,800 ตัว ไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) จำนวน 440,000 ตัว ซึ่งแนวทางการจัดสรรโควตาให้แก่ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์จำนวน 16 บริษัท โดยให้โควตาแต่ละบริษัทท่ากับปี 2566
สำหรับสถานการณ์การผลิตและการตลาดไข่ไก่ ปัจจุบันการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ปี 2566 มีแผนการเลี้ยงจำนวน 3,870 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้วจำนวน 3,870 ตัว คิดเป็น 100 % การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ปี 2566 มีแผนการเลี้ยงจำนวน 440,000 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว จำนวน 427,196 ตัวคิดเป็น 97.09 % ขณะที่จำนวนไก่ไข่ยืนกรงปัจจุบัน 52,437,131ตัว ประมาณการผลผลิต 43,522,819 ฟองต่อวัน ขณะที่การส่งออกไข่ไก่สด จำนวน 381.65 ล้านฟอง มูลค่า 1,703.78 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 78.50 และ 105.38 ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนการส่งออกไปประเทศสิงคโปร์ 72 % และฮ่องกง 16 % และ ไต้หวัน 7 % ตามลำดับ