'สุรพงษ์' ถกความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง หนุนขนส่งระหว่างประเทศ
“สุรพงษ์” ถกความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 8 ขยายความร่วมมือการกลับมาเดินรถอีกครั้ง หนุนผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี (Greater Mekong Subregion Cross Border Transport Facilitation Agreement Joint Committee : JC GMS CBTA) ครั้งที่ 8 จัดขึ้น ณ เมืองไหโข่ว มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านระบบการประชุมทางไกล
โดยที่ประชุมได้พิจารณาสาระสำคัญ ประกอบด้วย การขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง “ระยะแรก” การกลับมาเดินรถอีกครั้ง (Relaunch) รวมไปถึงความคืบหน้าของฝ่ายจีนสำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนเพิ่มเติมภายใต้พิธีสาร 1 ของความตกลง GMS CBTA และการร่วมกันพิจารณาแผนดำเนินงานระหว่างปี 2567 - 2671
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 8 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การขยายระยะเวลาการสิ้นสุดของการมีผลบังคับใช้ของการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ “ระยะแรก” ออกไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 31 ธันวาคม 2569
2. การกลับมาเดินรถอีกครั้ง (Relaunch) ภายใต้บันทึกความเข้าใจ “ระยะแรก” ในวันที่ 1 เมษายน 2567
3. การประกาศความสำเร็จของการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนเพิ่มเติมภายใต้พิธีสาร 1 ของ GMS CBTA เสร็จสิ้นสมบูรณ์ และมีผลใช้บังคับทันทีในวันที่ 13 ธันวาคม 2566
4. การรับรองแผนดำเนินงานระหว่างปี 2567 - 2671 ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมและการประชุมที่สำคัญ เช่น การกลับมาเดินรถอีกครั้ง (Relaunch) ภายใต้บันทึกความเข้าใจ “ระยะแรก” กำหนดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งคู่ขนานกับการประชุมคณะอนุกรรมการด้านศุลกากร ภายใต้ความตกลง GMS CBTA ช่วงเดือนมีนาคม 2567 การออกใบอนุญาตขนส่งระหว่างประเทศและเอกสารนำเข้าชั่วคราว การแจ้งเวียนหมายเลขทะเบียนรถให้กับประเทศสมาชิก การพิจารณาเพิ่มเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศภายใต้พิธีสาร 1 ของ GMS CBTA การปรับปรุงความตกลง GMS CBTA ในอนาคต เป็นต้น
ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาการสิ้นสุดของการมีผลบังคับใช้ของการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ “ระยะแรก” จะส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศของไทยและประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สามารถทำการเดินรถเพื่อขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาการค้าชายแดนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค