กรมพัฒน์เปิดธุรกิจดาวเด่น - ธุรกิจเสี่ยงถดถอย ปี 66/67

กรมพัฒน์เปิดธุรกิจดาวเด่น - ธุรกิจเสี่ยงถดถอย ปี 66/67

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากคลังข้อมูลธุรกิจ ในปี 2566 พบ ธุรกิจดาวเด่น 5 ธุรกิจ ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ สมุนไพร การติดตั้งไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อีคอมเมิร์ซ แต่มี 3 ธุรกิจเสี่ยงถดถอย ส่วนปี 67 มี 9 ธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตโดดเด่น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้นำข้อมูลจากคลังข้อมูลธุรกิจมาทำการวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อเฟ้นหา ธุรกิจดาวเด่น 5 ธุรกิจ และ ธุรกิจเสี่ยงถดถอย 3 ธุรกิจ ในปี 2566 และวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจในปี 2567 โดยใช้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์จากหลายภาคส่วน เช่น จำนวน อัตราการเติบโตของการจัดตั้ง อัตราการเลิก การเพิ่มปริมาณการลงทุนของธุรกิจ และข้อมูลจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ แนวโน้มธุรกิจ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ ร่วมกับสถานการณ์ภาพรวมของประเทศ
 

5 ธุรกิจดาวเด่น ปี 2566

ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ พบว่า 5 ธุรกิจดาวเด่น ปี 2566 ที่มาแรงส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศและของโลก โดยเฉพาะธุรกิจที่เคยประสบปัญหาช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลับมาฟื้นตัวจนมีความโดดเด่นอีกครั้ง ได้แก่

1.กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น 64% ได้แก่

  • ธุรกิจจัดนำเที่ยว
  • ตัวแทนธุรกิจการเดินทาง โรงแรม รีสอร์ท ห้องชุด สปา
  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

2.กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพิ่ม 36% ได้แก่

  • ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง
  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

3.กลุ่มธุรกิจสมุนไพร เพิ่ม 33% ได้แก่

  • การปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค พืชทางเภสัชภัณฑ์
  • การผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาโรค

4.กลุ่มธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่ม 25% ได้แก่

  • ธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้า การผลิต ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์
  • การขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
  • การผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์

5.กลุ่มธุรกิจ e-Commerce หรือ ธุรกิจการค้าปลีกสินค้าออนไลน์ เพิ่ม 19%

3 ธุรกิจเสี่ยงถดถอย ปี 2566

ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ ส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับกระแสธุรกิจรักษ์โลกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยมีผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล บริการรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงมูลค่าบริการและสินค้าที่มีอยู่ของอุตสาหกรรมเดิม (Digital Disruption) ได้แก่

1.กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ลดลง 30% ได้แก่

  • ธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก
  • การผลิตปุ๋ยเคมี
  • การผลิตเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ขั้นมูลฐาน

2.กลุ่มธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้า หรือ ธุรกิจการค้าปลีกช่องทางออฟไลน์ ลด 12%

3.กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงสันดาป ลด 5% ได้แก่

  • ธุรกิจการขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในสถานี หรือ สถานีบริการน้ำมัน
  • การขายส่งเชื้อเพลิงแข็ง/เหลว
  • การทำเหมืองแร่ เหมืองแร่อโลหะและเหมืองหิน

 

ธุรกิจโดดเด่นและน่าจับตามอง ปี 2567

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามอง ในปี 2567 แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ 9 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย

1. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลดีจากปัจจัยบวกในการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนภาครัฐที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ สร้างโอกาส และรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ

  • ธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ห้องชุด เกสต์เฮ้าส์ ธุรกิจจัดนำเที่ยว ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา ธุรกิจตัวแทนการเดินทาง
  • ธุรกิจการจัดประชุม แสดงสินค้า คอนเสิร์ต เช่น ธุรกิจการจัดแสดงทางธุรกิจและสินค้า ธุรกิจการจัดประชุม ธุรกิจจัดงานเลี้ยง ธุรกิจกิจกรรมด้านความบันเทิง

         
2. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ

การรักษารูปร่าง หน้าตา และการดูแลสุขภาพของบุคคล สำหรับกลุ่มที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ มีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

  • ธุรกิจสุขภาพและความงาม เช่น ธุรกิจปลูกพืช เครื่องเทศ เครื่องหอมยารักษาโรค ธุรกิจโรงพยาบาล คลินิกโรคเฉพาะทาง ธุรกิจขายปลีก/ส่งเภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์
  • ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจสถานที่ดูแลรักษาสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจบริการจัดหาที่พักให้ ธุรกิจสังคมสงเคราะห์โดยไม่มีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ

         
3. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องรูปแบบการใช้ชีวิต

กลุ่มธุรกิจนี้ ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจที่น่าสนใจประกอบด้วย

  • ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยง ธุรกิจขายปลีกอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ธุรกิจขายส่งอาหารสัตว์
  • ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า

           
4. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์

เป็นกลุ่มธุรกิจตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ครอบคลุมทุกช่วงวัยของประชากรในสังคม มีมูลค่าทางการตลาดระดับสูง โดยมีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

  • ธุรกิจบริการ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต และธุรกิจตลาดกลางในการซื้อขายออนไลน์
  • ธุรกิจบริการชำระเงินแบบดิจิทัล ได้แก่ ธุรกิจการประมวลผลและการเรียกชำระเงินสำหรับธุรกรรมทางการเงิน เป็นธุรกิจให้บริการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์
  • ธุรกิจซอฟต์แวร์ เช่น ธุรกิจจัดทำโปรแกรมเว็บเพจ ธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ธุรกิจให้คำปรึกษาทางด้านซอฟต์แวร์