อัตรา “ดอกเบี้ยสหรัฐ” จะไปต่ออย่างไรปีหน้า

อัตรา “ดอกเบี้ยสหรัฐ”  จะไปต่ออย่างไรปีหน้า

พุธที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ 5.25-5.50 ต่อปี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายของปี เป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาด

แต่ที่แปลกใจคือการให้สัญญาณของประธานเฟดว่า อัตราดอกเบี้ยอาจถึงจุดสูงสุดแล้ว ขณะที่กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลดลงปีหน้า ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายการเงินสหรัฐ

คําถามคืออะไรเกิดขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐน่าห่วงกว่าที่รู้กันหรือเปล่า และเราจะตีความการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินนี้อย่างไร นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ทุกไตรมาส ธนาคารกลางสหรัฐจะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า SEP คือ Summary of Economic Projections รวบรวมความเห็นอย่างไม่เป็นทางการของกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐว่า มองแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในระยะสามปีข้างหน้าอย่างไร

เป็นข้อมูลประกอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ตลาดการเงินให้ความสำคัญ

ถ้าใครจําได้ในการประชุมเมื่อเดือนกันยายนปีนี้ ข้อมูลชุดนี้ชี้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินยังห่วงเรื่องเงินเฟ้อ และให้สัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นได้อีกหนึ่งครั้งก่อนสิ้นปี แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่มีการปรับขึ้นทั้งในการประชุมเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนและในการประชุมครั้งล่าสุดเดือนธันวาคม

เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อได้อ่อนแรงลง ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 3.1 เดือนพฤศจิกายน ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวดีและตลาดแรงงานมีความสมดุล ทั้งหมดชี้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เฟดได้ทําไป 11 ครั้งตั้งแต่ปี 2022 น่าจะเพียงพอที่จะดูแลเงินเฟ้อ

และก็ชัดเจนว่าแนวโน้มเงินเฟ้อขณะนี้เป็นขาลง ทําให้โฟกัสของนโยบายการเงินสามารถปรับมาให้นํ้าหนักกับการขยายตัวของเศรษฐกิจได้มากขึ้น ที่ล่าสุดข้อมูลชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอหลังขยายตัวได้ดีไตรมาสสาม เป็นผลจากภาวะการเงินที่ตึงตัวจากอัตราดอกเบี้ยที่ได้ปรับสูงขึ้น

อัตรา “ดอกเบี้ยสหรัฐ”  จะไปต่ออย่างไรปีหน้า

การเปลี่ยนโฟกัสของนโยบายการเงินจากเงินเฟ้อ มาเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ตลาดการเงินไม่ได้คาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมคราวนี้ จึงถือว่าเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว

แต่เมื่อดูประมาณการเศรษฐกิจจากข้อมูล SEP เดือนธันวาคมก็ชัดเจนว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินห่วงเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ข้อมูล SEP ชี้ว่าปีนี้คณะกรรมการมองจีดีพีสหรัฐขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5 และจะลดลงปีหน้าเป็นร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.9 ปี 2026 ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.8 ปีนี้และจะเข้าสู่เป้าร้อยละ 2 ในปี 2026

ส่วนอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ยืนระยะอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 4.1 ช่วงสามปีข้างหน้าซึ่งถือว่าไม่สูง

ดังนั้น ที่น่าห่วงมากสุดคือการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะชะลอลงช่วงสามปีข้างหน้า ทําให้ความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะกลับมาเป็นประเด็นอีก และประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอลงมากสุดปีหน้า

นี่คือความเห็นของกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐที่นําไปสู่สัญญาณการเปลี่ยนโฟกัสของนโยบายการเงินในการประชุมครั้งล่าสุด สัญญานเหล่านี้ได้แก่

อัตรา “ดอกเบี้ยสหรัฐ”  จะไปต่ออย่างไรปีหน้า

1. เฟดไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังคงไว้ที่ร้อยละ 5.25-5.50 และบอกชัดเจนว่าระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจถึงจุดสูงสุดแล้ว

2. เฟดยํ้าว่าภาวะการเงินที่ตึงตัวจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงในปีหน้า ซึ่งจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อลดลงต่อในปีหน้า

3. เมื่อถูกถามเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประธานเฟดตอบว่าเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ขยายตัวไม่อยู่ในภาวะถดถอย แต่ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะสามารถเกิดขึ้นปีหน้า

4. กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน มองอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีหน้าจะลดลงจากปีนี้ คาดว่าระดับเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีหน้าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ลดลงจากร้อยละ 5.4 ปีนี้ และลดลงเหลือร้อยละ 2.9 ปี 2026

นี่คือสัญญาณที่ออกมาชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงปีหน้า ตลาดการเงินก็ตอบรับสัญญาณดังกล่าวด้วยความยินดี และตีความว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงอย่างน้อยสามครั้งในปีหน้า

ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับข่าวการสิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ยในทางบวก คือหุ้นขึ้นทุกตลาด และนักวิเคราะห์ก็เริ่มถกเถียงว่าอัตราดอกเบี้ยปีหน้าจะเริ่มลดได้เร็วแค่ไหน เมื่อไร และทั้งปีจะกี่ครั้ง

อัตรา “ดอกเบี้ยสหรัฐ”  จะไปต่ออย่างไรปีหน้า

ทั้งหมดสะท้อนการเปลี่ยนความรู้สึกของตลาด จากที่กลัวเงินเฟ้อเมื่อสองเดือนก่อนมาเป็นยินดีกับการเติบโตของเศรษฐกิจและโอกาสที่ราคาสินทรัพย์ที่จะปรับสูงขึ้น คําถามคืออะไรเกิดขึ้น อะไรเปลี่ยนไป

ผมคิดว่าเหตุผลหลักคงเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะถูกกระทบมากขึ้นในปีหน้าจากผลสะสมของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แน่นอนอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกในแง่การขยายตัวที่จะได้ประโยชน์จากต้นทุนการเงินที่ลดลง

แต่เฟดคงพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง และคงสร้างเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้นพอควรก่อนตัดสินใจ (Pre-conditions) เพื่อไม่ให้การลดอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นเร็วเกินไปจนอัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นปัญหาอีก

ขณะเดียวกันก็ไม่ช้าเกินไปจนเศรษฐกิจชะลอมากและเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเฟดในฐานะธนาคารกลางตระหนักเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี

แต่ประเด็นที่นักลงทุนควรห่วงมากกว่าคือ ทําไมเฟดตัดสินใจค่อนข้างเร็วที่จะเปลี่ยนทิศทางดอกเบี้ย รู้อะไรที่เราไม่รู้ หรือรู้มากกว่าที่เรารู้หรือไม่

ทําไมเฟดมองเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงมากปีหน้า อะไรคือสาเหตุนอกเหนือจากดอกเบี้ย และมีความเสี่ยงหรือไม่แค่ไหนที่การชะลอตัวอาจลากยาวและนําเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

เหล่านี้คือประเด็นที่ต้องคิดและช่วยกันหาคําตอบ

อัตรา “ดอกเบี้ยสหรัฐ”  จะไปต่ออย่างไรปีหน้า

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]