’รัฐบาล‘ส่งสัญญาณปี 67 ขึ้นค่าแรง 2 รอบ ชี้มติไตรภาคีขึ้นค่าแรงต่ำกว่าควร

’รัฐบาล‘ส่งสัญญาณปี 67 ขึ้นค่าแรง 2 รอบ ชี้มติไตรภาคีขึ้นค่าแรงต่ำกว่าควร

โฆษกรัฐบาลเผยรัฐบาลเตรียมเคลื่อนประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ มองมติไตรภาคีให้ขึ้นค่าแรงต่ำเกินไป โฆษกรัฐบาลคาดนายกฯเตรียมให้ความเห็น เคลื่อนไหวต่อเนื่อง แม้เข้าใจกรอบกฎหมายว่าทำได้แค่ไหน ปี67 อาจเห็นการปรับขึ้นค่าแรง 2 รอบ ยันขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบการเป็นฐานผลิต   

หลังจากคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ยึดมติคณะกรรมการครั้งก่อน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ในการปรับ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ปี 2567 ไว้ตามมติเดิม คือ ปรับเพิ่มขึ้นอัตราวันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37% สูงสุด 370 บาท

ล่าสุด นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลยังเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ สองรอบในปี 2567 แม้ว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการค่าจ้างจะยืนตามมติเดิมก็ตาม

“รัฐบาลจะไม่หยุดแสดงความคิดเห็น โน้มน้าว เพราะเรื่องแบบนี้สามารถจะพูดคุยกันได้ ดังนั้นไม่มีข้อบังคับไหนที่ระบุว่า ปีหนึ่งให้พิจารณาการขึ้นค่าแรงเพียงครั้งเดียว หากผ่านไปแล้วสักระยะ เมื่อคณะกรรมการมีการทบทวนหรือพิจารณาใหม่อีกครั้งภายในปีเดียวกันก็ได้ ถือว่า โอกาสมีอยู่เสมอ” นายชัย ระบุ

ทั้งนี้ยอมรับว่า รัฐบาลเข้าใจว่าสิ่งไหนจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง แต่ก็แสดงความคิดเห็นได้ โดยที่ผ่านมาในช่วงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยก็ได้มีการหาเสียงเรื่องนี้ไว้ ดังนั้นรัฐบาลมีสิทธิรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย จะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่เป็นเอกสิทธิ์ไปแทรกแซงไม่ได้

ยันนายกฯไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงน้อยเกินไป

นายชัย ระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรี มีสิทธิแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงในอัตราที่ประกาศออกมา เพราะมองในเชิงการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เห็นว่ามีช่องว่างและมีความเลื่อมล้ำสูงมาก แต่ก็ต้องเคารพกฎหมาย และเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่หยุดแค่นี้ คงจะมีการขับเคลื่อนต่อ

“เชื่อว่า ครม. ก็เห็นคล้อยตามนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะค่าแรงขั้นต่ำของไทยเกินกว่าตัวเลขที่ศึกษาวิจัย ว่า คนหนึ่งคนเวลาทำงานมีครอบครัว มีลูกหนึ่งคน ขั้นต่ำหนึ่งวันต้องมีรายได้ 560 บาทต่อวัน แต่ค่าแรงกลับห่างไกลมาก จึงเกิดปัญหาทำงานโอที ทั้งพ่อและแม่ จนไม่มีเวลาดูลูก และนำมาซึ่งปัญหาสังคม”

ชี้ธุรกิจแบกค่าแรงไม่ไหวต้องทบทวนศักยภาพ

โฆษกรัฐบาล ยอมรับว่า ตามศักยภาพภาคธุรกิจไทย ถ้าบอกว่าค่าจ้างสูงกว่านี้ไม่ไหว แปลว่าต้องทบทวนศักยภาพธุรกิจที่ไม่มีความสามารถพอที่จะทำธุรกิจและสร้างรายได้มากพอ เพื่อดูแลคนทำงานได้อย่างมีความสุข ดังนั้นภาคธุรกิจต้องปรับตัว จะมาบอกว่าทำได้เท่านี้ และให้แรงงานมาเสียสละ ซึ่งมองว่า ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการคิดว่า ขึ้นค่าแรงแล้วจะทำให้ธุรกิจของตนเองอยู่ไม่ได้ แต่ตนมองตรงข้ามว่า คนอื่นที่อยู่ในวงการเดียวกันอาจอยู่รอดได้ เมื่อหายไปหนึ่งเจ้าก็อาจมีเจ้าอื่นมาทดแทน และพร้อมจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าแรงงานจะไม่ตกงาน เพราะมีความต้องการของสินค้าอยู่ จะมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่จะอยู่รอดและเติบโตขึ้นมาในรูปแบบสามารถที่บริหารธุรกิจ และจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำได้สูง

ส่วนจะเป็นการผลักผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ นั้น มองว่า หากย้ายฐานการผลิตจะเกิดช่องว่างของตลาด คนที่อยู่ในนี้จะเข้ามาแทนที่ และต่างประเทศก็จะเจอปัญหาเช่นกัน และย้ำว่าธุรกิจทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าแรงเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องของเส้นทางคมนาคมขนส่ง ความเสถียรของไฟฟ้า ซึ่งยังมีปัจจัยอื่นอีกมาก ส่วนตัวไม่ห่วง เพราะหากถอยออกไปก็จะมีคนที่อยู่ได้ และมีการขยายตัวเข้ามาแทนที่

เชื่อขึ้นค่าแรงไม่กระทบฐานการผลิต

นายชัย กล่าวว่า ที่มีการนำเสนอทำนองว่า นายจ้างอยู่ไม่ได้และจะย้ายฐานการผลิต ซึ่งสามารถทำได้ เพราะหากย้ายไปตลาดก็ไม่หายไป ตลาดที่เคยค้าขายอยู่ยังมีช่องว่าง และยังมีผู้เล่นที่จะขยายเข้ามากินตลาดนี้ ดังนั้นประเทศไม่เสียหาย จึงขออย่าห่วง สุดท้ายจะถูกคัดคนไม่มีคุณภาพออกไป และขอถามกลับว่า ประเทศอื่นที่เจริญแล้ว จ่ายค่าแรงหลายพันบาท ทำไมถึงจ่ายได้ ไม่เจ๊ง เพราะว่า เขามีผู้ประกอบการที่มีความสามารถเช่นประเทศมาเลเซีย และสิงค์โปร์