บอร์ดค่าจ้าง ยึดมติเดิม ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 บาท เตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้า

บอร์ดค่าจ้าง ยึดมติเดิม ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 บาท เตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้า

บอร์ดค่าจ้างมีมติเอกฉันท์ยึดมติเดิม 8 ธ.ค. 66 ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 17 กลุ่มจังหวัด อัตรา 2-16 บาท เตรียมชงครม.สัปดาห์หน้า คาดมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ 1 ม.ค.67 จ่อปรับขึ้นค่าจ้างอีกรอบช่วง เม.ย. หลังได้สูตรคำนวณใหม่ค่าจ้างอาจถึง 400 บาท

วันนี้ (20 ธ.ค. 66) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22  เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยยึดตามมติเดิมในวันที่ 8 ธ.ค.66 ที่ผ่านมาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 17 กลุ่มจังหวัดในอัตรา  2-16 บาท โดยที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เห็นว่ามติของบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ในอัตรา 2-16 บาท น้อยเกินไป  และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้ดึงมติบอร์ดค่าจ้างกลับมาพิจารณาและให้มีการปรับสูตรการคำนวณใหม่ 

ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีบอร์ดฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายรัฐบาล 15 คนร่วมประชุมครบทุกคน โดยในที่ประชุมมีการซักถามถึงเหตุผลที่จะนำกลับมาพิจารณาใหม่  และเห็นว่ามติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.มีความเหมาะสม และเป็นเอกฉันท์ และมองว่าการประชุมวันนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก หลังจากใช้เวลาประชุมประมาณ 2 ชั่วโมงจึงได้ข้อยุติ โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันทั้ง 3 ฝ่ายให้ยืนมติเดิมในวันที่ 8 ธ.ค.66

ส่วนข้อสังเกตของ รมว.แรงงาน จะได้นำไปประกอบการพิจารณาปรับสูตรในการกำหนดค่าจ้างใหม่ เพื่อพิจารณาค่าจ้างใหม่เร็วที่สุดเมื่อสภาพเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีข้อเรียกร้องของลูกจ้าง โดยในวันที่ 17  ม.ค. 67 จะเสนอรายชื่อตั้งอนุกรรมการพิจารณาสูตรปรับค่าจ้างใหม่ในรอบ 6 ปี   หลังจากนั้นจะส่งให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดนำสูตรใหม่ไปคำนวณอัตราค่าจ้างรายจังหวัด 

สำหรับการปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 นั้น จะเป็นช่วงใด ก็จะต้องดูตามเวลาดำเนินงาน พร้อมกับดูว่า จะมีไตรภาคีเสนอเรื่องนี้มาหรือไม่ด้วย 
 

สำหรับการประชุมวันนี้เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายไม่มีการโหวต เพราะไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขมติเดิมที่จบไปแล้ว หากไปเปลี่ยนแปลงทำให้ข้อมูลเปลี่ยนไปจะทำให้มติเดิมไม่ศักดิ์สิทธิ์ และขอเสนอไปเป็นการปรับสูตรค่าจ้างใหม่ และให้เพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามสูตรใหม่อีกครั้งเร็วที่สุด ซึ่งเป็นทางออกที่ดี โดยให้แจ้ง รมว.แรงงานแล้ว คาดว่าจะนำมติบอร์ดค่าจ้างเข้าที่ประชุมครม.สัปดาห์หน้า 

นอกจากนี้อาจจะมีการปรับค่าจ้างอีกครั้งในเดือน เม.ย.-พ.ค. ปีหน้า โดยสูตรการคำนวณเก่าได้นำข้อมูลปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงโควิดมาพิจารณา และช่วงนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ จึงต้องปรับสูตรคำนวณใหม่  พร้อมเพิ่มเกณฑ์ค่าจ้างรายอาชีพด้วยจะทำให้เปอร์เซ็นต์ในการปรับค่าจ้างสูงขึ้น และมีโอกาสดันค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ใกล้แตะ 400 บาทต่อวัน

รายงานข่าวแจ้งว่า มติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ซึ่งค่าจ้างค่าขั้นที่เพิ่มมากที่สุดคือ จ.ภูเก็ต คือ 370 เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท หรือเพิ่มขึ้น 16 บาท และต่ำที่สุดคือ 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จากเดิม 328 บาท 

โดยมติคณะกรรมการเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66  กำหนดให้อัตราค่าจ้างใหม่นี้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอน จะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำมติดังกล่าว เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบต่อไป
 

สำหรับรายละเอียดการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 แบ่งออกเป็น 17 อัตรา ดังนี้

1. กลุ่มที่เพิ่มเป็น 370 บาทต่อวัน มี 1 จังหวัดคือ ภูเก็ต

2. ปรับเพิ่มเป็น 363 บาท มี 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

3. ปรับเพิ่มเป็น 361 บาท มี 2 จังหวัดคือ ชลบุรีและระยอง

4. ปรับเพิ่มเป็น 352 บาท มี 1 จังหวัดคือ นครราชสีมา

5. ปรับเพิ่มเป็น 351 บาท มี 1 จังหวัดคือ สมุทรสงคราม

6. ปรับเพิ่มเป็น 350 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่

7. ปรับเพิ่มเป็น 349 บาท มี 1 จังหวัดคือ ลพบุรี

8. ปรับเพิ่มเป็น 348 บาท มี 3 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี นครนายก และหนองคาย 

9. ปรับเพิ่มเป็น 347 บาท มี 2 จังหวัดคือ กระบี่และตราด

10.ปรับเพิ่มเป็น 345 บาทมี 15 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา จันทบุรี สระแก้ว นครพนม มุกดาหาร สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ตาก และพิษณุโลก

11. ปรับเพิ่มเป็น 344 บาท มี 3 จังหวัดคือ เพชรบุรี ชุมพร และสุรินทร์

12. ปรับเพิ่มเป็น 343 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ลำพูน และนครสวรรค์

13. ปรับเพิ่มเป็น 342 บาท มี 5 จังหวัดคือ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และเพชรบูรณ์

14. ปรับเพิ่มเป็น 341 บาท มี 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี พัทลุง ชัยภูมิ และอ่างทอง

15. ปรับเพิ่มเป็น 340 บาท มี 16 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง สตูล เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และราชบุรี

16.ปรับเพิ่มเป็น 338 บาท มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย ตรัง น่าน พะเยา แพร่

17. ปรับเพิ่มเป็น 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา