มาร์เก็ตแชร์ ยสท.หาย 26% ยอดคนสูบ“ยาเส้น-บุหรี่ไฟฟ้า-บุหรี่เถื่อน”พุ่ง
ยสท.ระบุ โครงสร้างภาษีใหม่ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 60 ทำให้มาร์เก็ตแชร์ของโรงงานลดไปถึง 26% มาอยู่ที่ 52% รายได้ลดจาก 9 พันล้านมา อยู่ที่ 200 ล้าน ขณะที่ ยอดการสูบบุหรี่กลับไปพุ่งที่ยาเส้น บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่เถื่อน วอนรัฐพิจารณากลับไปใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่หลายอัตรา
นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย(ยสท.)เปิดเผยว่า ผลจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่เมื่อปี 2560 ทำให้มาร์เก็ตแชร์ของยสท.หายไปราว 26% มาอยู่ที่ 52% ในปีนี้ และส่งผลให้รายได้และกำไรได้ลดลงตามไปด้วย จากเดิมที่มีกำไรราว 9 พันล้านบาทต่อปี เหลือประมาณ 200 ล้านบาทในปีนี้ โดยมียอดขายลดลงจาก 2.8 หมื่นล้านมวน เหลือ 1.4 หมื่นล้านมวน ขณะที่ กำไรต่อซองลดจาก 6.49 บาทต่อซอง เหลือ 0.18-0.30 สตางค์
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างบุหรี่ ทำให้ราคาบุหรี่ในประเทศที่ถูกกฎหมายแพงขึ้น ส่งผลให้มีบุหรี่เถื่อนลักลอบเข้ามาแย่งตลาด เพราะราคาถูกกว่า โดยขายเพียงซองละ 20-30 บาท ต่ำกว่าบุหรี่ทั่วไปที่ซอง 65-70 บาท อีกทั้ง คนรุ่นใหม่ยังหันไปซื้อบุหรี่ไฟฟ้า วัดได้จากบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตขึ้น 6.4% ต่อปี และที่สำคัญกลุ่มคนมีรายได้น้อยหันไปสูบยาเส้นทดแทน เห็นได้จากยอดขายยาเส้นมวนเองเติบโตกว่า 1 เท่าตัว จาก 1.2 หมื่นล้านมวน เป็น 2.8 หมื่นล้านมวน แซงหน้ายอดขายบุหรี่ที่ขายที่ 2.68 หมื่นล้านมวนไปแล้ว หลังจากวงการยาเส้นมีการพัฒนาเครื่องมวนยาเส้นและใส่ก้นกรองได้เอง ทำให้โดยรวมราคาถูกกว่าบุหรี่ 3 เท่าตัว หลังรัฐบาลมีการตั้งภาษียาเส้นต่ำกว่าบุหรี่หลายเท่าตัว
ดังนั้น แนวทางต่อไปยสท.จึงเตรียมเสนอรัฐบาล และกรมสรรพสามิตพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งใหญ่ โดยว่าจ้างนักวิชาการ ศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ให้เป็นธรรม จากปัจจุบันที่มีการเก็บภาษีด้านปริมาณ และมูลค่าอีก 25-42% โดยจะได้ข้อสรุปใน 2 เดือนนี้ รวมถึง การพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาสูบ เช่น รับจ้างผลิตบุหรี่เพื่อจำหน่ายในประเทศได้ หลังจากโรงงานยาสูบในปัจจุบัน มีกำลังการผลิตเหลือส่วนเกินเหลือจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน การยาสูบฯ ได้ปรับโครงสร้างโมเดลธุรกิจ โดยหันพึ่งพารายได้จากการส่งออกบุหรี่มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเมียนมา และกัมพูชา ที่บุหรี่ไทยได้รับความนิยมสูงอยู่ รวมถึง ปรับแผนตลาดใหม่ เช่น การออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ การลดราคาบุหรี่รุ่นเดิมเพื่อช่วงชิงตลาดกลับคืน หลังจากที่ผ่านมาการยาสูบฯ สูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากเคยสูง 79% เหลือเพียง 52%
นอกจากนี้ จะเพิ่มรายได้จากการบริหารทรัพย์สิน เช่น การเปิดเช่าระยะยาวที่ดินที่มีกว่า 4,000 ไร่ รวมถึง การแยกให้โรงพิมพ์ และโรงพยาบาล บริหารจัดการหารายได้เลี้ยงตัวเองได้
ส่วนแนวทางการรับซื้อใบยาสูบจากชาวไร่ ยสท. ยังมีความยินดีที่จะรับซื้อช่วยเหลือชาวไร่อย่างต่อเนื่อง โดยมีโควตาการรับซื้อใบยาเวอร์ยิเนีย 4.73 ล้านกิโลกรัม ใบยาเบอร์เลย์ 7.1 ล้านกิโลกรัม และใบยาเตอร์กิซ 2 ล้านกิโลกรัม ขณะเดียวกันเสนอ สรรพสามิตในการขอเงินชดเชยจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นช่วยชาวไร่ 89 ล้านบาท
“เกษตรกรชาวไร่ยาสูบในสังกัดทั่วประเทศ คือครอบครัว ยสท. ที่มีความผูกพันกันอย่างยาวนาน เมื่อเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบต่างๆ เราก็พร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือโดยไม่ทอดทิ้งอย่างแน่นอน และ ยสท. พร้อมเปิดรับขึ้นทะเบียนชาวไร่ยาสูบในสังกัดเพิ่มเติม เพื่อมาเป็นครอบครัวเดียวกัน เดินหน้าสืบสานภารกิจต้นน้ำของอุตสาหกรรมยาสูบให้มีความมั่นคงยั่งยืนสืบไป”