'พลังงาน' ชง ครม.ตั้ง 'บอร์ด กฟผ.' เร่งสรรหาผู้ว่าฯ คนที่ 16
"กระทรวงพลังงาน" เล็งเสนอครม. เห็นชอบมติแต่งตั้งบอร์ด "กฟผ." โดยมี "ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ" ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อเร่งสรรหาผู้ว่าฯ คนที่ 16
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ธ.ค. 2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะนำรายชื่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เสนอต่อที่ประชุมครม. เพื่อมีมติเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ นายประเสริฐ ได้แจ้งลาออกจากการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดบริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 เพื่อจะไปนั่งดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดกฟผ. ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการสรรหาผู้ว่า กฟผ. ที่ขาดช่วงการบริหารงานจากผู้ว่าการตัวจริงตั้งแต่นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 ที่ได้เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ ได้เคยสอบถามไปยังกระทรวงการคลังว่า สามารถดำรงตำแหน่งเป็นทั้งประธานบอร์ดปตท. และกฟผ.ได้หรือไม่ แต่ทางกระทรวงการคลังระบุว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงานเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงานและยังมีส่วนได้ส่วนเสียกันหลายเรื่องเกรงว่าจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ Conflict of interest ระหว่างกันได้
"การยื้อไม่แต่งตั้งบอร์ดกฟผ. ก็จะทำให้กฟผ. ยิ่งขาดตัวผู้ว่าฯ ไปด้วย ซึ่งภาระกิจภายในกฟผ. ถือว่ามีความสำคัญที่ต้องการผู้ว่าฯ มาร่วมตัดสินใจ รวมถึงการขยับตำแหน่งภายในกฟผ. ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อกระทรวงพลังงานยืนยันว่าการคัดเลือกผู้ว่าการ กฟผ. จะต้องให้บอร์ดบริหารร่วมตัดสินใจก็ควรที่จะได้บอร์ดโดยเร็วภายในปี 2566"
รายงานข่าว ระบุว่า สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันอนุมัตินายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ ภายหลังจากที่ได้ผ่านขั้นตอนการสรรหา อีกทั้งบอร์ด กฟผ. ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566 ไปแล้วก็ตาม แต่ภายหลังรัฐบาลรักษาการได้เสนอรายชื่อให้ครม. เห็นชอบ แต่ด้วยมีข้อจำกัดในอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการ จึงต้องให้ กกต. เป็นผู้ร่วมเห็นชอบ
ดังนั้น เมื่อต้องเปลี่ยนกรรมการ กฟผ. กระทรวงพลังงาน จึงอยากให้กรรมการ กฟผ. ชุดใหม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาว่า นายเทพรัตน์ ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากกรรมการชุดก่อนเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันได้
สำหรับโจทย์หลัก ๆ ที่ บอร์ดกฟผ. จะให้นายเทพรัตน์ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ อาทิ การแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กฟผ. จะต้องแก้ปัญหาการแบกรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่ปัจจุบันยังคงรับภาระกว่า 1 แสนล้านบาท และหากรัฐบาลให้กฟผ. รับภาระค่าไฟงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 เพิ่มเติมโดยการลดค่าไฟเหลือต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วย จะทำให้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. แบกรับแทนประชาชนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13,950 ล้านบาท และทำให้ยอดสะสมของค่าFt ค้างรับรวมเป็น 125,950 ล้านบาท จากที่เคยปรับลดลงมาเหลือที่ระดับ 95,777 ล้านบาท ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ การแบกรับภาระค่าเอฟทีค้างรับที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานานจน กฟผ. ขาดสภาพคล่องและต้องไปกู้เงินมาเพื่อสนองตอบนโยบายรัฐบาล ซึ่งท้ายที่สุดดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ก็จะถูกบวกเพิ่มเข้าไปในค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กฟผ. ได้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และบริหารภาระค่า Ft แล้ว รวม 110,000 ล้านบาท โดยอัตราค่าไฟ 4.68 บาทต่อหน่วย จะยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ กฟผ. เป็น 2 ปี (6 งวด ตั้งแต่ ม.ค. 2567-ธ.ค.2568) ดังนั้น หาก กฟผ. ต้องไปกู้เงินเพิ่ม สัดส่วนหนี้ของ กฟผ. จะสูงเกินไปกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ กฟผ. ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น รวมถึงกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะของประเทศขยับตัวสูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่21 ส.ค. 2566 บอร์ดกฟผ. ครั้งที่ 11/2566 มีมติแต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการอาวุโส ดำรงตำแหน่ง รักษาการผู้ว่าการ กฟผ. หลังจากที่นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 ได้ครบวาระในวันนี้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนกว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ต่อไป