ส่องเทรนด์พลังงานปี 67 การบริโภคเพิ่ม-ราคาไม่พุ่ง
กูรูด้านพลังงาน เผยเทรนด์การบริโภคพลังงานปี 2567 เศรษฐกิจฟื้นการบริโภคเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาไม่พุ่ง อยู่ในระดับเดียวกับปี 2566
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงาน ต่างมองว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งแม้ว่าจะมีเรื่องทะเลแดงเข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยที่ยังต้องจับตาคือ นโยบายควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกพลัส เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศตะวันตก ในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ ในการแสวงหาโอกาส และแนวทางปรับตัวของกลุ่มบริษัทพลังงานในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อราคาพลังงานอนาคต เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โลก และเตรียมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันในปี 2567 นั้น ถือว่าจะยังคงมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุน อาทิ กำลังซื้อในสหรัฐอเมริกา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรป และการใช้น้ำมันในภาคการบินของจีนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ ขณะเดียวกัน อุปสงค์น้ำมันยังคงเติบโตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการนำเข้า
อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและกฎหมายรองรับ จะมีส่วนทำให้อุปทานน้ำมันเติบโตอย่างจำกัด โดยคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันในปี 2567 จะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในปี 2567 อยู่ที่ 75 – 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ นโยบายผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ มุ่งบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ของประเทศไทยปี ค.ศ. 2065 ถือเป็นความท้าทายในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จะต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
"เทรนด์ราคาพลังงานปีหน้าจึงจะยังไม่หวือหวาและอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2566 ส่วนสถานการณ์ทะเลแดง หากเจรจาไม่จบก็มีการย้ายเส้นทาง อยู่ที่ว่าต้นทุนสูงเท่าไหร่ แต่จะไม่ปรับขึ้นสูงนาน เพราะไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเหมือนสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะเห็นภาพมากกว่าเพราะเป็นผู้ผลิตน้ำมันเอง"
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันขึ้นหรือลงมี 2 ปัจจัย คือ ประเทศผู้ผลิต กับต้นทุนภาคขนส่ง ซึ่งมีความแตกต่างคือ ภาคขนส่งน้ำมันหากต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจะขึ้นราคาในวงระยะเวลาหนึ่ง เพราะจะมีบริษัทอื่นเข้ามาตัดราคา เสมือนของใช้ที่ราคาสูงในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น สินค้าแพงจึงไม่น่ากลัวเท่ากับสงคราม