'พีระพันธุ์' รื้อสัญญาซื้อขายก๊าซ ปตท. ย้อนหลัง หวังได้เงินอุ้มค่าไฟเพิ่ม
“พีระพันธุ์” สั่งสำนักงาน "กกพ." ตรวจสอบสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ของปตท. ย้อนหลัง หวังได้เงิน "ชอร์ตฟอล" เพิ่มเติมมาอุ้มค่าไฟงวดม.ค.-เม.ย. 2567 ต่ำกว่า 4.20 บาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขอให้ตรวจสอบการจัดหาราคาก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า มีช่วงเวลาอื่นที่ไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ หรือชอร์ตฟอล นอกเหนือจากช่วงต.ค. 2563 – ธ.ค. 2565 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 4,300 ล้านบาทอีกหรือไม่
ทั้งนี้ หากมีการกระทำดังกล่าว จะถือว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชน เพราะทำให้การส่งผ่านราคาก๊าซฯ ที่สูงขึ้น และส่งผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามไปด้วย กระทบต่อภาคประชาชน และภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม บอร์ดกกพ. ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 26 ธ.ค. 2566 โดยสั่งการให้สำนักงานกกพ. เข้าไปตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวแล้ว
แหล่งข่าว กล่าวว่า ที่ประชุมกกพ. ได้รับหนังสือจากกระทรวงพลังงาน และหารือในที่ประชุมบอร์ดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเร่งเข้าไปตรวจสอบอย่างรอบคอบ หากตรวจสอบเรียบร้อยแล้วจะส่งไปยังกระทรวงพลังงานต่อไป ขณะเดียวกันบอร์ดกกพ. ได้พิจารณามติสำนักงานกกพ. รายงานความคืบหน้าการบังคับใช้มาตรการทางปกครอง หลังจาก กกพ. ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 127 ออกคำสั่งที่ 44/2566 เรื่อง การส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติ กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ หรือชอร์ตฟอล
ทั้งนี้ ปตท. ต้องนำมูลค่าก๊าซฯ ที่มีการปรับลดลงจากผู้ผลิตประมาณ 4,300 ล้านบาท มาสะท้อนในราคารับซื้อเฉลี่ย หรือ พูลก๊าซ ในเดือนม.ค. 2567 จะลดต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค. – เม.ย. 2567 แต่ปตท. ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาการประชุมกกพ. วันที่ 20 ธ.ค. 2566 มีมติให้ยกคำอุทธรณ์ของปตท. และมอบหมายให้สำนักงานกกพ. ดำเนินการบังคับใช้มาตรการทางปกครองตามมาตรา 128 ที่กำหนดให้ กกพ. ต้องมีหนังสือเตือนอีกครั้ง หากยังฝ่าฝืนจะมีคำสั่งปรับวันละไม่เกิน 5 แสนบาท ก่อนนำไปสู่การออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตต่อไป
ทั้งนี้ กกพ. ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน โดยดำเนินการมาตรการทางปกครอง ก่อนจะใช้มาตรการทางอาญาในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 132 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนแก่ กกพ. และการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้พลังงาน ต้องระวางโทษจำคุก 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ระหว่างปี 2565 สำนักงาน กกพ. ตรวจสอบการคำนวณราคาพูล ก๊าซ พบข้อมูลชอร์ตฟอล ซึ่งเป็นตัวเลขปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ผู้ผลิตก๊าซต้องส่งให้กับ ปตท. ระหว่างเดือนต.ค. 2563 – ธ.ค. 2565 โดยสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กำหนดว่า หากผู้ผลิตก๊าซส่งก๊าซธรรมชาติไม่ครบได้ตามปริมาณในสัญญาต้องคิดราคาก๊าซฯ งวดต่อไปตามจำนวนที่ขาดส่งในราคาประมาณ 75% จากราคาปกติ
เป็นผลให้ ปตท. ซื้อก๊าซฯ ในส่วนดังกล่าวถูกกว่าราคารับซื้อปกติมีมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท แต่ ปตท. กลับนำก๊าซฯ ในส่วนดังกล่าวตามราคาเต็ม 100% มาคำนวณในราคา พูลก๊าซ ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนไปยังต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว
สำหรับเงิน ชอร์ตฟอล ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเงินที่เชฟรอนได้จ่ายให้กับปตท. ก่อนเปลี่นผ่านสัญญา เนื่องจากไม่มีการลงทุนขุดเจาะหลุมเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามสัญญา เพราะรู้ว่าจะไม่ได้มีการต่อสัญญาจึงไม่ทำอะไร และยอมจ่ายค่าปรับให้กับปตท. เพราะคุ้มกว่าการลงทุนขุดหลุมเพิ่ม ซึ่ง ดังนั้น การคำนวณค่าไฟงวดใหม่จะต้องนำราคานำเข้าก๊าซฯ ที่ช่วงนี้ถูกลงเยอะมาคำนวณกับเงินค่าปรับปตท. และการรับภาระจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ราว 1.5 หมื่นล้านบาท
"ค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 จะทำให้ได้ต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งน่าจะอยู่ระดับ 4.15-4.18 บาทต่อหน่วย ที่มาจากปัจจัยที่นำมาประกอบการพิจารณา ประกอบกับหากสมมติฐานต้นทุนที่ต่ำเกินไป แล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างสงคราม หรือปัจจัยลบอื่น อาจทำให้การคำนวณต้นทุนผิดพลาด ต้องมาขึ้นค่าไฟย้อนหลังอัตราสูง จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากกว่า ส่วนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ประมาณ 17 ล้านครัวเรือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าอัตราเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยใช้งบกลางประมาณ 1,950 ล้านบาท"