ยุคมืด 'กระทรวงพลังงาน' ไร้ทิศทาง-งานเดินช้า-กองอยู่ที่เดียว
วงในกระทรวงพลังงาน เผย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเริ่มไม่ทน เผยหน่วยงานใต้กำกับไม่ทำอะไรเลย ไร้ทิศทาง เข้าไม่ถึงตัว "พีระพันธุ์" เพียงรอรับคำสั่งจากภาคนโยบาย หลัง "ประเสริฐ" ปลัดกระทรวงฯ แบกภาระงานไว้ที่เดียว
ภายหลังจากที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กว่า 3 เดือน สิ่งที่เห็นชัดเจนคือการมาตรการลดราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม (LPG)
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการลดราคาพลังงานใกล้สิ้นสุดลงแล้ว โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งครบกำหนดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตรวันที่ 31 ธ.ค. 2566 นี้ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศชัดเจนว่าจะตรึงราคาดีเซลต่ออีก 3 เดือน ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567 โดยให้กระทรวงพลังงานหารือกับกระทรวงการคลัง โดยใช้กลไกการลดภาษีร่วมกับกลไกสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ร่วมรับภาระ
ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่เห็นกองทุนน้ำมันฯ นำเสนอแนวทางในการหารือร่วมกับกรมสรรพสามิตว่าจะมีการลดภาษีมาเท่าไหร่
ดังนั้น หากไม่มีความชัดเจนด้านการลดภาษีจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในฐานะเจ้าของเรื่องที่จะต้องช่วยเหลืออยู่แล้ว ต้องดูแลต่อตามนโยบายรัฐบาล และแบกภาระเข้ามาอีก 2.50 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันอุดหนุนระดับ 1 บาท อีกทั้งแนวโน้มช่วงนี้ราคาน้ำมันมีทิศทางที่จะปรับขึ้นอีกแน่นอน จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องอุ้มราคาระดับ 4 บาทต่อลิตร
"เท่าที่ดูตอนนี้หน่วยงานราชการที่เงินเดือนสูงๆ โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันฯ ที่ต้องคิดเรื่องต่างๆ ควรยุบเลยก็ได้ เพราะทำตามคำสั่งจะได้ไม่ต้องนำเงินจากภาษีประชาชนมาจ่าย แล้วเปลี่ยนไปจ้างพนักงานทั่วไปที่เงินเดือนน้อยกว่ามาทำแทนก็ได้ เพราะไม่ใช้ความสามารถและทำตามนโยบายโดยไม่ต้องคิดอะไร" แหล่งข่าว กล่าว
ส่วนค่าไฟฟ้างวดใหม่ ม.ค.-เม.ย.2567 จะต้องประกาศอัตราค่าไฟฟ้าภายในปี 2566 นี้ ภายหลังจากที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศไปแล้วที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ขณะที่รัฐบาลอยู่ระหว่างหาแนวทางที่จะต้องลดลงต่ำกว่า 4.20 บาท ส่วนผู้ใช้ไฟไม่ถึง 300 หน่วยต่อเดือนราว 17 ล้านครัวเรือน จะจ่ายค่าไฟที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยใช้งบกลางเข้ามาอุดหนุน ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน
แหล่งข่าว กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานต้องทำงานตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพราะไม่มีการหารืออะไรร่วมกัน ถือว่าแตกต่างระหว่างรัฐบาลชุดที่ผ่านมา
ในขณะที่นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน มักจะเอางานไปไว้กับตนเองทั้งหมด ซึ่งต่างจากนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานท่านเก่า ที่รับฟังข้อมูลและพร้อมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สมัยที่นายกุลิศ มาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานช่วงแรก บางเรื่องที่ไม่ทราบจะออกตัวว่าไม่ทราบแล้วถามความเห็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่วนปลัดปัจจุบันไม่ฟังและไม่เชื่อใคร รวมทั้งปลัดกระทรวงไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องของสำนักทุกในเชิงลึกก็ได้ แต่ต้องบริหารให้เป็นและรู้ในหลักการ และร่วมหาทางเลือกที่ดีที่สุด
"ตอนนี้ทุกหน่วยงานเริ่มไม่มีกระจิตกระใจจะทำอะไร ไร้ทิศทางไปหมด ดูอย่างช่วงสิ้นปีที่ต้องผลักดันงานต่างๆ แต่ไม่คืบหน้า เช่น การตั้งคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ควรเร่งแต่งตั้งเพื่อเร่งสรรหาผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ แต่ไม่รีบดำเนินการ"
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กฟผ.ขาดทั้งคณะกรรมการ กฟผ.ที่กำหนดนโยบายองค์กร และขาดผู้ว่าการ กฟผ.ที่เป็นผู้บริหารสูงสุด ซึ่งมีหลายประเด็นที่จะต้องมีการตัดสินใจเพื่อขับเคลื่อนองค์กร เช่น การแต่งตั้งรองผู้ว่าการ กฟผ.และผู้บริหารระดับสูงที่ยังว่าง
"ปลัดก็มาลาพักร้อนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหรืออาจจะน้อยใจที่โดนปลดออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)"
นอกจากนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรการพลังงานมักจะทราบรายละเอียดเมื่อปลัดกระทรวงเสนอเรื่องเพื่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และจึงมาทำตามมติ ครม.
รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานต้องติดตามนโยบายผ่านทางเฟซบุ๊กชื่อบัญชี "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga" ซึ่งเป็นปัญชีส่วนตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และติดตามข่าวจากสื่อมวลชน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการที่ปลัดกระทรวงพลังงานรับผิดชอบทุกงานคนเดียว และไม่หารือกับหน่วยงานเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อมวลชนเมื่อจะสอบถามข้อเท็จจริงจากทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและปลัดกระทรวงพลังงาน ก็ไม่สามารถติดต่อได้โดยตรง ส่วนมากจะต้องติดตามผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว และรอเจอตามงานต่าง ๆ ถึงจะได้สัมภาษณ์ ส่วนปลัดกระทรวงพลังงานในช่วงหลังรับสายน้อยลงต่างจากช่วงที่รับตำแหน่งใหม่