เปิดไทม์ไลน์เจรจา FTA ปี 67 ปิดดีลเพิ่ม 1 ฉบับ สร้างขีดความสามารถทางการค้าไทย
“พาณิชย์”ลุยเจรจาเอฟทีเอ ปี 67 เร่งเปิดดีล 1 ฉบับ อีก 2 ฉบับปิดปี 68 พร้อมเปิดแผนเจรจาเอฟทีเอใหม่อีก 2 ฉบับ “ไทย-เกาหลีใต้ และไทย-ภูฏาน”
ในรอบปี 66 หรือ 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้บริหารราชการตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ไม่มีเรื่องใดโดดแด่นเป็นที่เข้าตาหรือฮอตสุดในกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลยุคของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของตัวเลขส่งออก เงินเฟ้อ การบริการจัดการราคาสินค้าตามวงจร
ผ่านไปครึ่งปีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มารับไม้ต่อเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆเพียง 3 เดือน ก็ยังดำเนินนโยบายเรื่องของการลดค่าครองชีพประชาชน การดูแลปัญหาต่างๆ การเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศจีน ส่วนที่เป็นข่าวเด่นก็น่าจะเป็นเรื่องของการปรับขึ้นราคาน้ำตาล
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.นายภูมิธรรม ได้มีการแถลงผลงาน" Quick Win 99 วัน กระทรวงพาณิชย์"ภายใต้นโยบายเร่งด่วน กำหนดเป้าเป็น 3 ระยะ 15 เป้าหมาย ภายใน 99 วัน โดยแบ่งเป็น 3 ซ่อม เพื่อลดช่องว่าง 8 สร้าง เพื่อต่อเติม และ 4 เสริม เพื่อยั่งยืน แต่ก็ไม่ได้หวือหวามาก เพราะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นเพียง 99 วันเท่านั้น
ขึ้นศักราชปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ยังมีภารกิจสำคัญต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายการทำงานปี2567 จะเดินหน้าโครงจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกตลอดทั้งปี ตั้งเป้าลดค่าครองชีพให้ประชาชนรวม 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว1.5 แสนล้าน การผลักดันการส่งออกให้เข้าสู่เป้าหมายโต 2 % การดูแลราคาสินค้าให้เป็นธรรมทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต ซึ่งเป็นงานหลัก
เมื่อโฟกัสไปยัง”การส่งออก”ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญในการเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากการจับมือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันการส่งออกและลดอุปสรรคทางการค้าแล้ว เครื่องมือที่จะเป็นแต้มต่อสำคัญทางการค้าท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่รุมเร้าในปี 67 นั่นก็คือ การเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี(FTA) หรือเอฟทีเอ ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล”เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ย้ำอยู่เสมอว่า เอฟทีเอ ประเทศไทยมีการเจรจาเรื่องนี้น้อยมาก ยังคงล้าหลังคู่แข่งอย่างมาก อยู่ดังนั้นเรื่องนี้ จะเป็นอีกหนึ่งประเด็นหลักที่รัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้กับนานาประเทศ
ปัจจุบันไทยมีอยู่ 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ประกอบด้วยอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง
“นภินทร ศรีสรรพางค์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเร่งเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายตลาดการค้าของไทย โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าสำคัญที่ไทยยังไม่มีเอฟทีเอ ด้วย และเจรจาเพื่อยกระดับ ปรับปรุงความตกลงเดิม และการฟื้นเปิดการเจรจาใหม่ รวมทั้งผลักดันการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ สร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทย และสร้างโอกาสทางการค้าบริการและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย เพิ่มจากเอฟทีเอ ที่ไทยมีอยู่
ล่าสุดไทยได้ปิดดีลการเจรจาเอฟทีเอไทย-ศรีลังกา ที่คั่งค้างมานานหลายปี โดยจะมีการชงให้คณะรัฐมนตรีเคาะลงนามความตกลงช่วงต้นเดือนก.พ.67 ซึ่ง โดยเป็นเอฟทีเอฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ และนับเป็นเอฟทีเอฉบับที่ 15 ของไทย โดยเอฟทีเอไทย-ศรีลังกา จะทำให้ GDP ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น0.02 % ต่อปี
สินค้าและบริการที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น ยานยนต์ สิ่งทอ อัญมณี โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก และบริการด้านการเงิน ประกันภัย คอมพิวเตอร์ ก่อสร้าง ท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนบริการที่ได้รับประโยชน์ อาทิ การเงิน ประกันภัย คอมพิวเตอร์ ก่อสร้าง ท่องเที่ยว วิจัยและพัฒนา และการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ การลงทุนในสาขาการผลิตอาหารแปรรูป การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ แบตเตอรี่ อุปกรณ์การแพทย์
ส่วนเอฟทีเอที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา และคาดว่าจะประสบความสำเร็จได้ในเร็ว ๆ นี้ 3 ฉบับได้แก่ 1 .เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA)ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 8 ในระหว่างวันที่ 29 ม.ค. – 2 ก.พ. 2567 ณ กรุงเทพฯโดยตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาในเดือนเม.ย.2567
2.เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป (EU) โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจารอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 ม.ค. 2567 ณ กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายสรุปผลการเจรจาในปี 2568
3.อาเซียน-แคนาดา โดยจะมีการประชุมเจรจารอบที่ 6 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 11 ม.ค. 2567 ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาในปี 2568
สำหรับแผนเปิดการเจรจาเอฟทีเอ ในปี 67 ได้แก่ เอฟทีเอไทย-เกาหลีใต้ อยู่ระหว่างการหารือ คาดว่าจะสามารถประกาศเปิดการเจรจา EPA ไทย-เกาหลีใต้ อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2567 และเอฟทีเอไทย-ภูฏาน อยู่ระหว่างการหารือ เป้าหมาย : คาดว่าจะเปิดการเจรจาในไตรมาส 1 ของปี 2567
การเจรจาเอฟทีเอถือในปี 67 จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงพาณิชย์เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล เพราะเป็นสิ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและกำชับให้ดำเนินการเป็นเรื่องเร่งด่วนของกระทรวง เพื่อขยายโอกาสให้สินค้าและบริการของไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยเฉพาะสาขาเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ