ส่องปัจจัยเสี่ยง ’ปีงูใหญ่‘ นักวิชาการแนะ 5 ข้อ ยกระดับ ‘เศรษฐกิจ’
เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันต้องเผชิญกับสถานการณ์สงครามและตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และเกิดผลกระทบต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดคำถามว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเป็นอย่างไร
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) และประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา(IFD) กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันต้องเผชิญกับสถานการณ์สงครามและตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และเกิดผลกระทบต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่คาดการณ์ได้ยาก เช่น สภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เป็นต้น จึงทำให้เกิดคำถามว่า ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงอะไรที่ควรระวัง และควรมีแนวทางป้องกันอย่างไร เพื่อภาครัฐและเอกชนจะสามารถปรับตัวเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที
ปัจจัยบวกเศรษฐกิจไทยปีหน้า
ในความเห็นของตน เศรษฐกิจไทยในปี 2567 หรือ ปีงูใหญ่จะเป็นปีที่เศรษฐกิจ “ฟื้น” มากกว่า “ฟุบ” แต่จะเป็นการฟื้นอย่างช้า ๆ เพราะ ถึงแม้เศรษฐกิจจะมีสัญญาณที่ดี แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน โดยสัญญาณของการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่ทำให้เศรษฐกิจในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นมีดังนี้
1) การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนแสดงให้เห็นถึงการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งอัตราการว่างงานปรับตัวลดลง และการท่องเที่ยวไทยมีตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น จากมาตรการของรัฐบาลที่ให้วีซ่าฟรีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
2) การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว โดยตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 อีกทั้งภาครัฐได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี จึงทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังคงมีแรงเหวี่ยงในทางที่ดี
3) รัฐบาลจะอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และการลดค่าพลังงานให้กับประชาชน เช่น การควบคุมราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท และลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากงบประมาณปี 2567 มีความล่าช้า อาจทำให้การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้าและไม่ทันรับมือกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นในปี 2567
4) มาตรการส่งเสริมการส่งออก ตลอดทั้งปี 2566 คาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวที่ร้อยละ 1-2 อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายนและมีแนวโน้มเป็นบวกในไตรมาส 4 ของปี 2566 และขยายตัวต่อเนื่องไปถึงปี 2567 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ ได้แก่ ข้าว ผลไม้ อิเล็กทรอกนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงหลังของปี 2566 อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายผลักดันการส่งออกสินค้า เช่น การใช้ประโยชน์จาก Soft Power การแก้ปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน การผลักดันการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีมากขึ้น เป็นต้น ถึงกระนั้น ประเทศไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะกล่าวต่อไป
ปัจจัยลบเศรษฐกิจปี 67
ประเทศไทยยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่อาจฉุดเศรษฐกิจให้ยังคงชะลอตัว 3 ประการ ดังนี้
1) ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าปกติและอุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติในปี 2567 และอาจก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเกษตรของไทยที่อาจมีปริมาณผลผลิตที่ลดลง ส่งผลให้ระดับราคาอาหารเพิ่มขึ้น สร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และอาจกระทบต่อการส่งออกของประเทศ เนื่องจากสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นกลุ่มสินค้าหลักของการส่งออกไปต่างประเทศ
2) กับดักหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น เป็นปัจจัยที่อาจบั่นทอนให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงในปี 2567 ทั้งนี้ไตรมาส 1 ปี 2566 ไทยมีหนี้ในระบบสูงถึง 16 ล้านล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 90.7 ของจีดีพี อีกทั้งมีหนี้นอกระบบอีก 5 หมื่นล้านบาท และ 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนไทยเป็นสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ ซึ่งทำให้หนี้ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นกับดักที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 โตได้ไม่เต็มที่
3) ความเปราะบางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอิสราเอล – ฮามาส และรัสเซีย – ยูเครน ที่ยืดเยื้อและอาจบานปลาย จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพลังงานโลกสูงขึ้น อีกทั้งความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกา - จีน นับเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนระหว่างประเทศ การหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานโลก และการผลิตของโลกไม่เติบโต ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวลุกลามและรุนแรงขึ้น
ข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ
จากการประเมินปัจจัยบวกและความเสี่ยงที่กล่าวมา ผมจึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนควรมีมาตรการในการเตรียมพร้อมสำหรับปีงูใหญ่ 5 ประการ ดังนี้
1) ป้องกันความเสี่ยงในภาคการผลิต ภาวะสงครามจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลาง และสร้างอุปสรรคต่อการการเดินเรือสินค้าผ่านคลองสุเอช ภาคการผลิตจึงควรกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน และการกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ
ขณะที่เอลนีโญจะทำให้เกิดความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ ภาคการเกษตรควรเฝ้าระวังและจัดเตรียมแหล่งน้ำสำรอง ส่วนภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเตรียมความพร้อมในพื้นที่เฝ้าระวังการขาดน้ำ และกำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูก เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น
2) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนควรทำอย่างครบวงจร และแก้อย่างยั่งยืน ทั้งการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง การลดรายจ่าย และประการสำคัญคือการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เช่น การพัฒนาความรู้ด้านการเงิน การเร่งพัฒนาทักษะและเพิ่มทักษะใหม่ของแรงงาน การเร่งการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างงานในประเทศ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่สอดคล้องกับค่าครองชีพในแต่ละท้องถิ่น การส่งเสริมการออม เป็นต้น
3) กระจายตลาดส่งออก ภาครัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนกระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ในหลายภูมิภาค เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการส่งออก โดยการช่วยเจรจาเปิดตลาดใหม่ ๆ และเร่งทำความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มการส่งออกของประเทศ
4) สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ภัยคุมจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้ราคาพลังงานโลกผันผวน ภาครัฐควรทำการทูตพลังงาน โดยเจรจากับประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน เพื่อแลกเปลี่ยนความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางพลังงาน การกระจายการพึ่งพาพลังงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะการลงทุนในพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนสำรวจแหล่งพลังงานในต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว
และ 5) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายหลายประการ ทั้งอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ภาครัฐจึงควรมีมาตรการช่วยเหลือให้เกิดการปรับโครงสร้างและกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งอาจใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในการนำเข้าเทคโนโลยี เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ รวมทั้งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต ไปสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งการวิจัยและพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการตลาด
"เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังมีความเปราะบางและฟื้นตัวได้ช้า อีกทั้งมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจลุกลามขยายเป็นวงกว้าง ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชนควรเตรียมพร้อมรับมือป้องกันและแก้ไขในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นในปี 2567 นี้"