สรรพากรออกประกาศแพลทฟอร์มออนไลน์ส่งฐานข้อมูลลูกค้าเริ่ม 1 ม.ค.67
กรมสรรพากรสั่งแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Shopee Lazada และ Grab นำส่งฐานข้อมูลร้านค้าในระบบที่ร่วมบริการ เริ่ม 1 ม.ค.2567
นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ โฆษกกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมสรรพากรออกประกาศสั่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ให้บริการขายหรือจัดส่งสินค้า อาทิ Shopee, Lazada และ Grab ส่งฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่ร่วมให้บริการในระบบทั้งหมดมาให้แก่กรมสรรพากร เริ่ม 1 ม.ค.2567 นี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมฯไม่ได้มีอำนาจขอให้ผู้ประกอบการดังกล่าวส่งฐานข้อมูลลูกค้ามาให้แก่กรมสรรพากร ดังนั้น กรมฯจึงต้องออกประกาศดังกล่าว เพื่อให้ผู้ให้บริการเหล่านี้ นำส่งข้อมูลมาให้แก่กรมฯ
“ที่ผ่านมา เราจะรู้ข้อมูลของผู้ให้บริการ เช่น Grab แต่เราไม่รู้ว่า ลูกค้าที่ใช้บริการของGrab นั้น เป็นใคร และมียอดขายหรือรายได้อย่างไร เราจึงออกประกาศให้ผู้ให้บริการเหล่านั้น ส่งข้อมูลฐานลูกค้ามาให้”
เขากล่าวอีกว่า เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่แพลตฟอร์มในประเทศในการพิสูจน์การมีเงินได้ กรมสรรพากรจึงได้พัฒนาระบบงานเพื่อรับข้อมูลที่มีปริมาณมากในรูปแบบอิเล็ทรอนิกส์
กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2566 กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม (ผู้ให้บริการผ่านสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมระหว่างผู้ประกอบการ กับผู้บริโภค ไม่รวมถึงกิจการภายใต้การกำกับดูแลของ BOT หรือ กลต) ที่จดทะเบียนในไทย และมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ยื่นบัญชีพิเศษ ที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกที่กรมสร้างขึ้นเพื่อรองรับไว้โดยเฉพาะโดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป
โดยให้นำส่งภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นรอบบัญชี ซึ่งเป็นกำหนดเวลาเช่นเดียวกับการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี (ภงด. 50) เช่น หากมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 ถึง 31 ธ.ค. 2567 ก็จะมีกำหนดที่จะต้องนำส่งข้อมูลประมาณเดือน พ.ค. 2568 เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการนำส่งข้อมูล รองรับทั้งแบบผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มส่งเองและใช้ service provider ซึ่งจะอำนวยความสะดวก และลดการใช้กระดาษได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการวางรากฐานของ Digital Tax Ecosystem เพื่อการจัดเก็บภาษีที่ทั่วถึงและเป็นธรรม และยกระดับการให้บริการของกรมสรรพากรที่เน้นการบริการที่ยึดถือผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง Taxpayer Centric อย่างแท้จริง
ปัจจุบันอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทยมีหลายประเภท เช่น e-Commerce, e-Service และ e-Marketplace ตัวอย่างเช่น Shopee, Lazada, LINE MAN และGrab