ผ่า ‘พ.ร.บ.งบฯ 67‘ 3.48 ล้านล้าน ’คนไทย’ ได้ประโยชน์อะไรจากงบประมาณปีนี้
ส่อง พ.ร.บ.งบฯ67 จากการจัดสรรงบประมาณตามช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน ถึงวัยชรา พบจัดสรรงบเบี้ยยังชีพให้คนชรา 12 ล้านคน 9 หมื่นกว่าล้านบาท จัดระบบการศึกษาเรียนฟรี 15 ปี 8.3 หมื่นล้านบาท สร้างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 3-5 ม.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะประชุมพิจารณา (ร่าง) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระแรก
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงินงบประมาณจำนวน 3,480,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 295,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.3% โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
งบประมาณปี 67 มีโครงสร้างงบประมาณดังนี้
1.รายจ่ายประจำ กำหนดไว้เป็นจำนวน 2,532,826.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 130,287.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 โดยรายจ่ายประจำดังกล่าว คิดเป็นสักดส่วนร้อยละ 72.8 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 75.4 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2566
2.รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง กำหนดไว้เป็นจำนวน 118,361.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 118,361.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 ซึ่งเป็นการชดใช้เงินคงคลังเพิ่มเติม จากวงเงินที่ใช้ไปในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เป็นกรณีมีเหตุผลเฉพาะ เนื่องจากมีการจัดทำงบประมาณล่าช้ากว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีในกรณีทั่วไป
ต้องชดใช้ไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งเป็นการชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และ พ.ศ.2566 โดยรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.4 ของวงเงินงบประมาณ
3.รายจ่ายลงทุน กำหนดไว้เป็นจำนวน 717,722.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 28,242.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 (รวมรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่เป็นรายจ่ายลงทุน จำนวน 7,230.2 ล้านบาท) โดยรายจ่ายลงทุนดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.6 ขงวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 21.7 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2566
และ 4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ ได้จัดสรรไว้เป็นจำนวน 118,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 18,320 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 โดยรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.4 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 3.1 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7,230.2 ล้านบาท
คนไทยได้อะไรจากงบฯ 67 ?
สำนักนายกรัฐมนตรีได้เผยแพร่เอกสาร งบประมาณฉบับประชาชนปี 2567 เพื่อให้ข้อมูลพื้นฐานเรื่องของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ทั้งนี้มีการชี้แจงเรื่องของงบประมาณ2567 ในหลายส่วน รวมทั้งมีการให้ข้อมูลการจัดสรรงบประมาณให้ประชาชนในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน ไปจนถึง วัยชรา โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.การจัดสรรงบประมาณให้กับประชากรวัยเด็ก (อายุ 0 - 6 ปี) ได้แก่
- เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดู เด็กแรกเกิด จำนวน 2.56 ล้านคน 16,494.61 ล้านบาท
- เงินอุดหนุนสงเคราะห์เด็ก ในครอบครัวช่วยเหลือ เด็กขาดแคลนและสงเคราะห์ เด็กฝากเลี้ยงตามบ้านจำนวน 0.11 ล้านคน 115.08 ล้านบาท
- เงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวอุปถัมภ์ จำนวน 5,297 คน 127.13 ล้านบาท
- กองทุนคุ้มครองเด็ก จำนวน 2,700 คน 38 ล้านบาท
2.การจัดสรรงบประมาณให้ประชากรวัยเรียน ได้แก่
- กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้รับความช่วยเหลือและเข้าถึงการศึกษาอย่างครอบคลุม ไม่น้อยกว่า 2.62 ล้านคน 6,044.08 ล้านบาท
- จัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปีอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ม.ปลาย/ปวช.) สนับสนุนค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ไม่น้อยกว่า 10.79 ล้านคน 83,666.24 ล้านบาท
- สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียน สนับสนุนค่าอาหารกลางวัน 5.70 ล้านคน 28,023.75 ล้านบาท สนับสนุนค่าอาหารเสริม (นม) 6.55 ล้านคน 12,634.73 ล้านบาท
- สนับสนุนทุนการศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และทุนประเภทอื่นๆ จำนวน 68,027 ทุน 7,149.63 ล้านบาท
- ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข ก. สาธารณสุข (แพทย์/พยาบาล/บุคลากรทางการแพทย์) ไม่น้อยกว่า 26,133 คน 2,304.11 ล้านบาท และการอุดมศึกษาฯ (แพทย์) ไม่น้อยกว่า 4,453 คน 2,099.69 ล้านบาท
3.การจัดสรรงบประมาณให้กับวัยแรงงาน ได้แก่
- งบประมาณสมทบกองทุนประกันสังคม มาตรา 33 และ 39 จำนวน 13.67 ล้านคน 53,664.93 ล้านบาท และมาตรา 40 จำนวน 10.96 ล้านคน จำนวน 1,808 ล้านบาท
- สนับสนุนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จำนวน 2.64 ล้านคน 633.6 ล้านบาท
- เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้เข้ารับ การฝึกอาชีพ จำนวน 1,520 คน 8.60 ล้านบาท
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 1.22 ล้านคน 78,775 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่ นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 1,520 คน 5.99 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมแรงงานกลุ่ม เป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาส ในการประกอบอาชีพวิถีใหม่ จำนวน 11,960 คน 29.90 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาฝีมือแรงงานสตรี เพื่อยกระดับศักยภาพวัยแรงงาน จำนวน 3,100 คน 6.60 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 (Gig Worker) จำนวน 20,200 คน 141.90 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2,500 คน 9.68 ล้านบาท
4.การจัดสรรงบประมาณให้คนวัยชรา ได้แก่
- เบี้ยผู้สูงอายุ กลุ่มเป้าหมาย 11.83 ล้านคน งบประมาณ 93,215.13 ล้านบาท
- เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบ้ากกลุ่มเป้าหมาย 12,500 คน งบประมาณ 37.5 ล้านบาท
- เงินอุดหนุนปรับปรุงซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุให้มี ความปลอดภัย บ้านผู้สูงอายุ 11,000 แห่ง งบประมาณ 440.00 ล้านบาท
- กองทุนผู้สูงอายุ กลุ่มเป้าหมาย 1,900 คน งบประมาณ 57 ล้านบาท
- เงินอุดหนุนการจัดการศพผู้สูงอายุ ตามประเพณีกลุ่มเป้าหมาย 115,251 คน งบประมาณ 345.84 ล้านบาท