เงินเฟ้อ ธ.ค. หดตัว 0.83% ต่ำสุดรอบ 34 เดือน
กระทรวงพาณิชย์เผยเงินเฟ้อเงินเดือนธันวาคมลดลง 0.83% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 34 เดือน จากราคาน้ำมัน ค่าไฟ รวมถึงสินค้ากลุ่มอาหารลดลง ยืนยันยังไม่เข้าเกณฑ์ภาวะเงินฝืด ส่วนเป้าเงินเฟ้อปี 2567 อยู่ที่ติดลบ 0.3 – 1.7%
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ระบุ ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2566 เท่ากับ 106.96 ลดลง 0.83% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาลดลงต่อเนื่อง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 สูงขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.23% และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 1– 1.7%
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด แม้ตัวเลขเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เดือนมกราคมมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึง ค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง และมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่าง -0.3 ถึง 1.7% ค่ากลาง 0.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน