ไขปมฐานะการเงิน 'กฟผ.' อุ้มค่าไฟฟ้าได้นานแค่ไหน?
"พีระพันธุ์" แจงปมฐานะทางการเงิน "กฟผ." ยังมีกระแสเงินสดกว่า 9 หมื่นล้าน วงใน "กฟผ." ระบุ หากยังแบกรับภาระแบบนี้จะกระทบต่อสถานะทางการเงินในอนาคต ลั่นแก้ปัญหาที่ละเปราะ เพื่อประชาชน
จากกรณที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงพาดพิงถึงการอภิปรายของ นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เกี่ยวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ไม่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องชี้แจงเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567
โดยนายพีระพันธ์ กล่าวว่า ตามที่ นายศุภโชติ อ้างว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลสมัยที่แล้ว มาจากพรรคเดียวกันจึงมีความเกรงใจนายทุน แก้ปัญหาแบบเดิม แม้ครงสร้างปัจจุบันตนเองก็ไม่พอใจ แต่ไม่มีทางอื่น ต้องปรับตามโครงสร้างปัจจุบัน ถึงอย่างไรก็เชื่อว่าพี่น้องประชาชนพึงพอใจในผลงานที่ทำมา
ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ ยังระบุว่าตกใจเพราะเมื่อฟังตัวเลขที่ นายศุภโชติ ชี้แจงไป กับตัวเลขที่ตนได้รับการชี้แจงจาก กฟผ. เมื่อวานนี้ และเพิ่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นคนละตัวเลขกันเลย พร้อมยืนยันว่ากระแสเงินสดของ กฟผ. ในปี 2566 ประมาณ 90,000 ล้านบาท
และประมาณการใช้จ่ายของ กฟผ. ที่ นายศุภโชติ อ้างว่า ตั้งแต่ ม.ค. จะลงไปถึงระดับ 10,000 ล้านบาท ไม่ใช่ความจริง และเป็นไปไม่ได้ กระทรวงพลังงานจะไม่ปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนั้น เพราะต้องรักษาระดับเงินสดไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาทเป็นมาตรฐานของ กฟผ.
สำหรับกรณีหนี้ของ กฟผ. กับ ปตท. ยอดกว่า 30,000 ล้านบาท นายพีระพันธุ์ ระบุว่า ได้รับชำระหนี้หมดแล้ว ที่ผ่านมาต้องเข้าใจ และขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกับรัฐบาลชุดนี้ในการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ไม่ทราบว่าใครจะไม่พอใจ แต่มั่นใจว่าประชาชนพอใจเรื่องการลดภาระค่าใช้จ่าย ทุกคนพร้อมใจกันช่วยลดภาระตรงนี้ ขอบคุณในสิ่งที่สมาชิกเป็นห่วง แต่เรื่องนั้นจะไม่เกิดขึ้นจริง และตัวเลขที่อ้างก็ไม่ตรงกับความจริง
โดยข้อมูลต่างๆ ที่ นายพีระพันธุ์ นำมาชี้แจงยืนยันว่าได้มาจากรองผู้ว่าการ กฟผ. ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ที่ให้ข้อมูลตอนที่นำงบการเงินปี 2564 -2565 ของ กฟผ. รายงานต่อ ครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 ซึ่งชี้ชัดในข้อเท็จจริงจากสถานะการเงิน ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดในมือประมาณ 91,000 ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ณ เดือนมกราคม 2567 เพียงหนึ่งเดือนให้หลังกระแสเงินสดของ กฟผ. ก่อนหักค่าใช้จ่ายจะเหลือเพียง 39,234 ล้านบาท
ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีควรจะกระทำ ไม่ใช่แค่กล่าวหาว่าข้อมูลของผู้อภิปรายไม่ถูกต้อง แต่ควรตั้งโจทย์ให้หน่วยงานราชการเผยแพร่ตัวเลขแก่สาธารณะ เพื่อตอบประเด็นของผู้อภิปรายให้กระจ่าง
นอกจากนี้ ท่านควรท้าทายให้ผู้อภิปราย จัดทำลิสต์คำถามและรายการข้อมูลที่ต้องการให้มีการเผยแพร่ ประชาชนย่อมพอใจที่มีการกดราคาพลังงานเอาไว้ แต่ในการประเมินผลงานของท่านรัฐมนตรี ประชาชนต้องการทราบว่า การกดราคาดังกล่าว เอาเงินมาจากไหน และจะยั่งยืนเพียงใด
แหล่งข่าวจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ข้อมูลที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาย ชี้แจงนั้นถือเป็นกรณีที่กฟผ. ยกตัวอย่างที่แย่จริง ๆ ทั้งนี้ กฟผ. ได้พยายามบริหารองค์กรเพื่อไม่ให้ไปถึงจุดนั้นแน่นอน เช่น เลื่อนการส่งเงินเข้ารัฐ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระทรวงพลังงาน พยายามหาทางออกให้ เช่น ปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางลดค่าไฟงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 2567) จากที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรียกเก็บที่ 4.68 บาทต่อหน่วย เหลือต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วย
โดยการแก้ไขการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพราะที่ผ่านมาบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสิทธิการใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทย ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ได้ถูกนำมาหารเฉลี่ยกับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)นำเข้าจากต่างประเทศ และแหล่งอื่นๆ หรือที่เรียกว่าพูลก๊าซ (Pool Gas) ที่เป็นฐานต้นทุนที่ผลิตไฟฟ้าคนทั้งประเทศ ซึ่งมีราคาสูงกว่า
ทั้งนี้ ได้แก้ไข โดยโยกก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยป้อนการผลิต LPG ให้ประชาชนใช้หุงต้มดำรงชีวิตในราคาถูกที่สุดประมาณ 219 บาทต่อล้านบีทียู และให้ก๊าซที่เหลือป้อนการผลิตปิโตรเคมี เป็นราคา Pool Gas ประมาณ 362 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนลดลงถาวรประมาณ 11.50 สตางค์ต่อหน่วย
"ตอนนี้เหมือน กฟผ. กำลังแก้ปัญหาที่ละเปราะ เพื่อประชาชน แต่อย่างไรก็จำเป็นที่จะต้องให้สะท้อนความเป็นจริง เพราะถ้าแบกรับไปตลอด ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่วนไป แต่ก็ยังหวังให้รัฐบาลเดินหน้าในการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อให้งานทั้งภายในและภารกิจที่รับไว้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะหากเป็นแบบนี้ กฟผ. ก็จะยังหาทางใช้หนี้ยากมาก"
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟผ. ได้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และบริหารภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) แล้ว รวม 110,000 ล้านบาท โดยอัตราค่าไฟ 4.68 บาทต่อหน่วย จะยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ กฟผ. เป็น 2 ปี (6 งวด ตั้งแต่ ม.ค. 2567 - ธ.ค. 2568) ซึ่งหาก กฟผ. ต้องไปกู้เงินเพิ่ม สัดส่วนหนี้ของ กฟผ. จะสูงเกินไปกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ กฟผ. ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น รวมถึงกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะของประเทศขยับตัวสูงขึ้นด้วย
ชงงบฯปี 64/65 เข้า ครม.ก่อนอภิปราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการอภิปรายงบประมาณปี 2567 วาระแรก ในวันที่ 3 ม.ค.2567 กระทรวงพลังงานได้มีการนำรายงานผู้สอบบัญชี และงบการเงินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประจำปี 2564 และประจำปี 2565 เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีการประชุมในวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมารับทราบ ก่อนที่จะมีการประชุมสภาฯเพียง 1 วัน
ทั้งนี้ตามหนังสือที่กระทรวงพลังงานทำถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ระบุว่างบการเงินของ กฟผ.ที่ได้ส่งมายังกระทรวงพลังงานในปี 2564 และ 2565 ได้ส่งมายังกระทรวงพลังงานตั้งแต่เดือน มี.ค.ปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่ารายงานผู้สอบบัญชี และงบการเงินของ กฟผ.ทั้ง 2 ปีงบประมาณยังไม่เคยส่งให้ ครม.รับทราบมาก่อน จะกระทั่งกระทรวงพลังงานได้ทำหนังสือรายงาน ครม.รับทราบเมื่อการประชุม ครม.ครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังไม่มีการส่งรายงานงบการเงินของ กฟผ.ในปี 2566 ให้ ครม.รับทราบแต่อย่างไร
ขณะเดียวกันในช่วงเช้าของวันนี้ (5 ม.ค.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐบาลได้นำเอาข้อมูลจากงบการเงิน กฟผ.ในปี 2564 – 2565 มาชี้แจงข้อมูลสภาพคล่องของ กฟผ.เพื่อตอบโต้กับฝ่ายค้าน
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่มีฝ่ายค้านอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มีการนำข้อมูลพาดพิงเรื่องที่ รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทำให้เป็นปัญหาการเงินของกฟผ. โดยเรื่องนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงไปแล้ว เป็นการนำข้อมูลที่เป็นเพียง “ข้อมูลคาดการณ์” ณ ตุลาคม 2566 มาอภิปรายในสภา ซึ่งไม่ใช่ข้อมูล “เกิดขึ้นจริง” ณ เวลานี้
นางรัดเกล้า ย้ำว่า ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ที่ รมว.พีระพันธุ์ นำมาชี้แจงเพื่อสร้างความกระจ่างให้กับสังคมนั้น ได้นำมาจากรองผู้ว่าการ กฟผ. ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ที่ให้ข้อมูลตอนที่นำงบการเงินปี 2564 -2565 ของ กฟผ. รายงานต่อ ครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 67 ซึ่งชี้ชัดในข้อเท็จจริงจากสถานะการเงิน ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดในมือประมาณ 91,000 ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ณ เดือนมกราคม 2567 เพียงหนึ่งเดือนให้หลังกระแสเงินสดของ กฟผ. ก่อนหักค่าใช้จ่ายจะเหลือเพียง 39,234 ล้านบาท
ส่วนมาตรฐานทางการเงินของ กฟผ. นั่นจะต้องคงสถานะเงินสดไม่ให้ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หากเมื่อใดมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่ามาตรฐานนี้ กฟผ. จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ทันที
ขณะที่ค่าไฟฟ้าจะอยู่ระหว่าง 4.15 ถึง 4.20 บาท / หน่วย ตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน 2567 และเพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ที่รัฐบาลคงไว้ที่ 3.99 บาท / หน่วยทั้งสิ้นนั้น รัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระจากเงินงบกลางเป็นเงินประมาณ 1,995 ล้านบาท จึงไม่เป็นภาระของ กฟผ. ฝ่ายเดียว
สำหรับการชำระหนี้เดิมที่มีกับ ปตท.นั้น กฟผ.ได้ชำระหมดสิ้นแล้วตั้งแต่มกราคม 2566 ทั้งปีนั้น กฟผ. ไม่ได้ติดหนี้อะไร ปตท. เพิ่มเติม เพราะมีการชำระหนี้ให้ ปตท. ตามกำหนดเวลาตลอดมา จึงไม่มีหนี้สินอะไรกับ ปตท. อีกแล้ว รวมถึงการส่งรายได้ให้รัฐของ กฟผ.สำหรับปี 2566 นี้ประมาณ 24,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 17,142 ล้านบาท แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของ กฟผ. ด้วยว่าขนาดอัตราค่าไฟฟ้าลดลง แต่ กฟผ. ยังสามารถนำส่งรายได้สูงกว่า “ข้อมูลคาดการณ์” ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า