กนอ.เคลียร์ ‘อีสต์วอเตอร์-วงษ์สยาม’ รับมือเปลี่ยนผู้บริหารท่อน้ำ ‘อีอีซี’
กนอ.รับกังวัลช่วงเปลี่ยนผ่านผู้บริหารท่อส่งน้ำอีอีซี เรียกหารืออีสต์วอเตอร์-วงษ์สยาม เคลียร์ประเด็นพื้นที่ทับซ้อน ทั้งสองฝ่ายแจงยินดีอะลุ่มอล่วยเพื่อประโยชน์ผู้ใช้น้ำ ประเมินราคาน้ำไม่ขยับขึ้น เอกชนเริ่มแข่งขันราคา ผู้ใช้น้ำได้ประโยชน์ระยะสั้น-กลาง
การบริหารท่อส่งน้ำภาคตะวันออกมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเปลี่ยนผู้บริหารจาก บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ มาเป็น บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิการบริหารท่อน้ำภาคตะวันออกจากกรมธนารักษ์รายใหม่
สำหรับอีสท์ วอเตอร์ ได้เข้าทำสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกความยาว 135.9 กิโลเมตร กับกระทรวงการคลัง มาตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.2536 กำหนดระยะเวลา 30 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อีสท์วอเตอร์ เข้าบริหารระบบท่อส่งน้ำและเก็บค่าน้ำดิบ
ล่าสุดวันที่ 30 ธ.ค.2566 กรมธนารักษ์ และอีสท์ วอเตอร์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบทรัพย์สินโครงการที่จะส่งมอบ และในวันที่ 31 ธ.ค.2566 กรมธนารักษ์ และอีสท์ วอเตอร์ ได้ลงนามบันทึกส่งมอบ-รับมอบระบบท่อส่งน้ำ ตามสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ได้ดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่กรมธนารักษ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2567 กรมธนารักษ์ได้มีการลงนามบันทึกการรับมอบ-ส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้บริหารรายใหม่ ประกอบด้วย
1.โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย-มาบตาพุด ซึ่งทรัพย์สินประกอบด้วย สถานีสูบน้ำดอกกราย,ถังยกระดับน้ำ (มาบข่า) ท่อเหล็ก ขนาด 1,350 มิลลิเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบ 26.50 กิโลเมตร
2.โครงการท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ ประกอบด้วย ถังยกระดับน้ำ (มาบตาพุด) บ่อรับน้ำดิบ, สระรับน้ำดิบ, สถานีสูบน้ำมาบตาพุด ท่อเหล็ก ขนาด 900 มิลลิเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบ 8.20 กิโลเมตร, สถานีสูบน้ำมาบตาพุด ท่อเหล็ก ขนาด 700 มิลลิเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบ 14.30 กิโลเมตร
3.โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 1) จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วยบ่อรับน้ำแหลมฉบัง , ท่อเหล็ก ขนาด 1,000 มิลลิเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบ 10.60 กิโลเมตร ,ท่อเหล็ก ขนาด 900 มิลลิเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบ 4.40 กิโลเมตร และท่อเหล็ก ขนาด 600 มิลลิเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบ 14.90 กิโลเมตร
ส่วนโครงการหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) อีสท์ วอเตอร์ ส่งมอบทรัพย์สินให้กรมธนารักษ์ แล้วเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2566 และกรมธนารักษ์ส่งมอบให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด วันที่ 12 เม.ย.2566
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกรมธนารักษ์, กรมชลประทาน, บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์, บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด, บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (GUSCO) และนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก
สำหรับการหารือดังกล่าวครอบคลุมถึงการส่งมอบท่อส่งน้ำระหว่างกรมธนารักษ์ และบริษัท อีสท์ วอเตอร์ รวมถึงการส่งมอบท่อส่งน้ำในพื้นที่ทับซ้อน ทั้งในส่วนของอีสท์ วอเตอร์ และบริษัทวงศ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ที่ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้การบริหารจัดการส่งน้ำในพื้นที่ไม่เกิดปัญหา มีน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง
รวมทั้ง มีการทดสอบระบบการจ่ายน้ำก่อนการส่งมอบทั้งกับผู้ให้บริการรายเดิมและผู้ให้บริการรายใหม่ ซึ่งพอถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 ที่มีการเปลี่ยนผ่าน ไม่พบปัญหาการจ่ายน้ำ โดยภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
“ทุกฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญของผู้ใช้น้ำ ทั้งสองบริษัทจึงยินดีละลุ่มอล่วยและร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำ แม้ว่าจะยังมีพื้นที่ทับซ้อนและบางพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยอาจมีการซื้อ-ขายน้ำระหว่างกัน หากจำเป็น”
ขณะเดียวกัน กนอ.ได้เตรียมการแหล่งน้ำสำรองสำหรับภาคอุตสาหกรรม ปริมาณ 1.4-1.5 แสนลูกบาศก์เมตร รวมทั้งเตรียมการบริหารความเสี่ยงการจัดการน้ำของผู้ประกอบการกิจการน้ำให้มีปริมาณสำรองน้ำ 20% ของปริมาณน้ำที่ขายทั้งปี เพื่อรับมือช่วงภัยแล้ง และสร้างความมั่นใจให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งผู้ประกอบการในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ
สำหรับอัตราค่าน้ำคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากปัจจุบันสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปแข่งขันได้จากเดิมที่เป็นแบบผูกขาด เริ่มมีผู้ให้บริการแข่งขันกัน 2-3 ราย คาดว่าผู้ใช้น้ำจะได้ประโยชน์ในระยะสั้น-กลาง เพราะหากมีรายใดรายหนึ่งขึ้นราคา ผู้ใช้น้ำสามารถเปลี่ยนไปใช้อีกเจ้าได้
“เรายืนยันมาตลอดว่า กนอ.ยืนเคียงข้างผู้ใช้น้ำ และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม สิ่งที่ กนอ.ปกป้องคือผลประโยชน์ของผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรม"
รวมทั้งจากการประชุมที่ผ่านมาดังกล่าวทุกฝ่ายเองก็พร้อมใจกันป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเห็นได้จากสถานการณ์การส่งน้ำในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาทุกอย่างยังคงเป็นปกติ ยังคงมีน้ำใช้อย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม