ถอดรหัส ‘กฤษฎีกา’ ปมกู้เงิน รัฐบาลออก พ.ร.บ.ได้แบบมีเงื่อนไข
“กฤษฎีกา” แจงที่มาคำตอบรัฐบาล ปมออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 10,000 บาท กระทรวงการคลังถามมาคำถามเดียว ออก พ.ร.บ.ได้หรือไม่
Key Points
-คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบคำถามกระทรวงการคลังประเด็นการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อแจกเงินดิจิทัล
-กระทรวงการคลังสอบถามมาเพียง 1 ประเด็น คือ รัฐบาลสามารถออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ได้หรือไม่
-รัฐบาลสามารถออกกฎหมายกู้เงินได้ทั้ง พ.ร.บ.และ พ.ร.ก.ภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้
-ความเห็นหลักระบุถึงกรณีรัฐบาลกู้เงินโดยยึดตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังครบถ้วนจะไม่มีปัญหาข้อกฎหมายตามมา
ไม่มีคำว่าไฟเขียวในคำตอบเงินดิจิทัล 1 หมื่น ระบุ ออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.ก็ได้ แต่ต้องยึดเงื่อนไขกฎหมายวินัยการเงินการคลัง การันตี ถ้าทำตามปลอดภัยแน่ ปัดตอบวิกฤติหรือไม่ เหตุดูเฉพาะข้อกฎหมาย
รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เดินหน้าผลักดันโครงการเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท หรือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 500,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังได้ส่งคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้ตอบคำถามในแง่ของกฎหมายในการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท
สำหรับคำถามที่กระทรวงการคลังสอบถามมามีเพียงประเด็นเดียว คือ ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ได้หรือไม่ โดยไม่มีคำถามว่าสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในระดับวิกฤติหรือไม่
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มอบหมายให้คณะกรรมการคณะที่ 12 มีนายพนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งได้ประชุมได้ข้อสรุปเมื่อปลายเดือน ธ.ค.2566 และส่งความเห็นให้กับกระทรวงการคลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ภายหลังที่รัฐบาลได้รับความเห็นดังกล่าวได้ออกมาชี้แจงว่าไม่มีข้อขัดข้องทางกฎหมายในการดำเนินการดังกล่าว แต่ต้องทำตามเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบายว่า หลังจากนี้กระทรวงการคลังคงเสนอรายละเอียดความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Walletก่อน ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นเรื่องลับที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด แต่ยืนยันว่าไม่มีคำว่า “ไฟเขียว”
สำหรับประเด็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเป็นข้อกฎหมายอย่างเดียว เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นนักกฎหมาย โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบได้เพียงเงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดในมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 กำหนดให้กรณีจำเป็นเร่งด่วนต้องแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขนั้นหรือไม่
ส่วนประเด็นที่รัฐบาลจะดำเนินการด้วยการออกกฎหมายได้หรือไม่นั้น มาตรา 53 ระบุให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.ขึ้นกับการพิจารณาของรัฐบาล เพราะถือเป็นออกเป็นกฎหมายเหมือนกัน
เพียงแต่เป็นการอธิบายถึงมาตรา 53 และบอกว่าคงต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้"
“คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีข้อเสนอแนะใด ผมเป็นนักกฎหมาย ผมชี้ไม่ได้ว่ารัฐบาลควรทำอย่างไร เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยตัวเลขข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์”
สำหรับการพิจารณาให้ความเห็นครั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาและยึดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ใน 4 มาตรา ดังนี้
มาตรา 6 รัฐต้องดําเนินนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคม และต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด
มาตรา 7 การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดําเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทาง การคลังของรัฐด้วย
มาตรา 9 ครม.ต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตาม พ.ร.บ.นี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง
และการก่อหนี้ ครม.ต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มค่าและภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ
มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่จําเป็นต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน
กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้
เงินตามวรรคหนึ่งให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมาย บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
“การให้ความเห็นครั้งนี้ยึดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังตอบอย่างนั้นเป๊ะ ถ้าทำตามผม ปลอดภัยแน่นอนครับ และถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหาอะไร”
นอกจากนี้ การให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีเฉพาะความเห็นข้อกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่ได้มีความเห็นที่ระบุถึงสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในระดับวิกฤติหรือไม่ ซึ่งทำให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาในแนวทางที่รัฐบาลสามารถตรากฎหมายเพื่อกู้เงินได้ โดยการตรากฎหมายมีทั้ง พ.ร.บ.และ พ.ร.ก. ซึ่งที่ผ่านมามีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่ถ้าจะออกเป็น พ.ร.บ.ก็ดำเนินการได้ เพราะเคยมีการพิจารณาแบบ 3 วาระรวด จึงไม่ใช่เรื่องยากที่รัฐบาลจะผลักดัน
ทั้งนี้ไม่ว่าจะออกกฎหมายกู้เงินในรูปแบบ พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าเป็นแนวทางที่ปลอดภัยทั้งคู่หากดำเนินการถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่เฉพาะรัฐบาลปัจจุบันที่มีการสอบถามความเห็นทางกฎหมาย แต่รัฐบาลที่ผ่านมา
“ผมเข้าใจว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียวนะ เพราะผมเองก็ไม่ใช่ตำรวจจราจร แต่ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็ทำได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือเปล่า”
ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นที่ต้องกังวลเพราะทุกรัฐบาลมีการสอบถามความเห็นข้อกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการตามฐานข้อมูล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้อง โดยหวังว่าทุกคนจะยืนอยู่บนข้อเท็จจริงเหล่านี้เหมือนกัน
นายเศรษฐา กล่าวว่า การประชุม ครม.วันที่ 9 ม.ค.2567 ยังไม่พิจารณานโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะต้องเสนอคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังรอดูเวลาอยู่
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นตอบกลับให้มีการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่แล้ว
“คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าทำไม่ได้ หรือทำได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจ และเป็นเรื่องที่ต้องฟังความคิดเห็น ถึงบอกว่าต้องมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อสอบถามความเห็นเรื่องนี้”
นอกจากนี้ รัฐบาลยันว่านโยบายเรื่องนี้ไปต่อได้แน่นอน และยังยืนยันในไทม์ไลน์เดิมภายในเดือน พ.ค.2567 แต่ขอประชุมรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายก่อน เพราะถ้าเกิดท่านผู้ทรงคุณวุฒิหรือคณะกรรมการมีข้อสงสัย มีข้อเสนอแนะอีกก็ต้องตอบทุกคำถามให้รอบคอบ แต่เบื้องต้นแนวทางดำเนินการหากจะเกิดนโยบายนี้ก็จะต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ตามกำหนดเดิม