ส่องธุรกิจ‘ผู้สูงอายุ’ สร้างโอกาสให้ ‘ธุรกิจไทย’
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย 3 ความต้องการของผู้สูงอายุ -ความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต -ความต้องการความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต และความต้องการสุขภาพกายและใจที่ดี “ ดันธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโต สร้างโอกาสขยายตลาดให้ 3 กลุ่มธุรกิจในประเทศ
รายงาน World Population Prospects 2022 ขององค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ตัวเลขจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคน โดยเป็นผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ที่ 10% และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นภายในปี 2593 เป็น 16%
ขณะที่ประเทศไทย ในปี 2567 เป็นปีที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ที่ผ่านมา ประชากรผู้สูงอายุในไทย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน (ประชากรไทยทั้งประเทศ จำนวน 66,057,967 คน (ข้อมูล ณ เดือนพ.ย. 2566 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)
กลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ มีอำนาจทางการเงิน และมีอิทธิพลต่อคนในครอบครัว จึงเป็นโอกาสของธุรกิจไทยในการนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและสุขภาพ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุทุกคน เบื้องต้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ความต้องการของผู้สูงอายุที่น่าสนใจออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่ 1. ความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ประกอบด้วยปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค เพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
2. ความต้องการความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต โดยเฉพาะความมั่นคงและปลอดภัยทางการเงิน เพื่อสร้างหลักประกันที่จะสามารถเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเหตุฉุกเฉินต่างๆ
3. ความต้องการสุขภาพกายและใจที่ดี โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่จำเป็น การทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อความแข็งแรงและเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ
ทั้งนี้ จำนวนจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสังคมผู้สูงอายุในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564 - 2566) มีแนวโน้มการจัดตั้งเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 จัดตั้ง 10,676 ราย ทุน 38,431 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 13,915 ราย (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 3,239 ราย หรือ 30.33%) ทุน 50,153 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 11,722 ล้านบาท หรือ 30.50%) ปี 2566 จัดตั้ง 16,913 ราย (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 2,998 ราย หรือ 21.55%) ทุน 53,276 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3,123 ล้านบาท หรือ 6.22%)
ส่วนจำนวนการจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของกลุ่มผู้สูงอายุช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (2564 - 2566) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 จัดตั้ง 241 ราย ทุน 746 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 274 ราย (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 33 ราย หรือ 13.69%) ทุน 811 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 65 ล้านบาท หรือ 8.71%) ปี 2566 จัดตั้ง 309 ราย (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 35 ราย หรือ 12.77%) ทุน 6,633 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 5,822 ล้านบาท หรือ 717.87%)
ขณะที่จำนวนการจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพกายและใจของกลุ่มผู้สูงอายุในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564 - 2566) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 จัดตั้ง 2,318 ราย ทุน 6,604 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 3,338 ราย (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 1,020 ราย หรือ 44.00%) ทุน 6,510 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2564 จำนวน 94 ล้านบาท หรือ 1.42%) ปี 2566 จัดตั้ง 4,588 ราย (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1,250 ราย หรือ 37.45%) ทุน 9,665 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3,155 ล้านบาท หรือ 48.46%)
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นและเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองและน่าสนใจ โดยการจัดลำดับล่าสุด ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองในปี 256 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เช่น ‘ธุรกิจสถานที่ดูแลรักษาสำหรับผู้สูงอายุ’ ‘ธุรกิจบริการจัดหาที่พักให้’ ‘ธุรกิจสังคมสงเคราะห์โดยไม่มีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ’ ฯลฯ ติดอันดับธุรกิจที่โดดเด่นในปี 67 ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นต้องการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง