ธปท.คุมเข้มแบงก์แก้ ‘หนี้ครัวเรือน’!
จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 90.9% ซึ่งยังอยู่ระดับสูง ธปท. ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ระบุ จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 90.9% ซึ่งยังอยู่ระดับสูง ธปท. ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตั้งแต่การออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้วงกว้างแบบปูพรมในช่วงโควิด แล้วปรับเป็นมาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะจุดหลังสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น โดยยึดหลักการทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ
ธปท. ได้ออกแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ที่บางส่วนมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ต้นปี เพื่อสานต่อการแก้หนี้ครัวเรือนผ่านทั้งมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีอยู่เดิม และมีมาตรการเพิ่มเติม กำหนดให้สถาบันการเงินต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม ดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้ รวมถึงคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยให้การแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืนขึ้น
โดยประเด็นที่ ธปท. จะเข้าไปดูมากขึ้น อยู่ภายใต้แผนการแก้หนี้อย่างยั่งยืนของ ธปท. 3 ด้าน เช่น การปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ หรือ Responsible lending ที่ออกประกาศ และมีผลบังคับใช้แล้วเพื่อให้การปล่อยสินเชื่อเกิดความเป็นธรรม และมีการพิจารณาถึงความสามารถของลูกหนี้มากขึ้น รวมไปถึงการทำโฆษณาของแบงก์ต่างๆ ว่าเกินจริงหรือไม่
นอกจากนี้ ธปท.จะเข้าไปดูถึงการแก้หนี้ของแบงก์และนอนแบงก์ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยกำหนดให้แบงก์เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย อย่างน้อย 1 ครั้ง และต้องไม่โอนหนี้ก่อนครบ 60 วัน หลังเสนอปรับโครงสร้างหนี้ และเร่งช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง และกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน จะเข้าไปดูการคิดค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ในการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน นอนแบงก์ว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะส่วนที่แบงก์ ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ย และค่าปรับ รวมถึงค่าบริการต่างๆหากลูกหนี้มีการปิดชำระหนี้ก่อนครบกำหนด รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยการคุ้มครองลูกหนี้ให้ได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้องครบถ้วน และได้เปรียบ รวมถึงห้ามคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ให้แก่รายย่อย ที่จะมีผลบังคับใช้ ก.ค.67 นี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์