วิกฤติทะเลแดงยืดเยื้อผู้ส่งออกไทยแบกต้นทุนขนส่งพุ่ง 4 เท่า
“เมอส์ก” คาดขนส่งในทะเลแดงชะงัก 2-3 เดือน หลังสหรัฐโจมตีฐานที่มั่นฮูตีในเยเมนระลอกใหม่ สรท.เผยยืดเยื้อเกินคาดการณ์ ดันค่าระวางพุ่ง โดยเฉพาะเส้นทางไทยไปยุโรปพุ่งสูงถึง 3,000-5,000 ดอลลาร์ต่อตู้ จำต้องแบกต้นทุนเพิ่ม ขึ้นราคาสินค้าไม่ได้
กองทัพสหรัฐและอังกฤษเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนระลอกใหม่ในช่วงเช้าตรู่วันที่ 18 ม.ค.2567 โดยพุ่งเป้าโจมตีฐานที่มั่นใน 5 จังหวัดทางตอนเหนือของเยเมน รวมถึงจังหวัดโฮเดดาห์ ซึ่งเป็นท่าเรือหลักนอกชายฝั่งทะเลแดงที่กลุ่มกบฏฮูตียึดครองหลังจากกลุ่มกบฏฮูตีได้ใช้โดรนโจมตีเรือบรรทุกสินค้าของสหรัฐในอ่าวเอเดนเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567
สถานีโทรทัศน์อัล-มาซิเราะห์ของกลุ่มกบฏฮูตีรายงานว่า ปฏิบัติการโจมตีของสหรัฐในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน โดยมุ่งเป้าโจมตีกลุ่มฮูตีในเยเมนโดยตรง
นายวินเซนต์ เคลิร์ก ซีอีโอของเมอส์ก ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือรายใหญ่สัญชาติเดนมาร์ก เปิดเผยเมื่อวันพุธ (17 ม.ค.) ว่า การหยุดชะงักของการขนส่งทั่วโลกอันเป็นผลจากการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงอาจคงอยู่ไปอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมอส์กและบริษัทขนส่งรายอื่น ๆ ได้สั่งการให้เรือสินค้าหลายร้อยลำหลีกเลี่ยงการเดินเรือในน่านน้ำทะเลแดง โดยเปลี่ยนไปใช้เส้นทางเดินเรืออ้อมแอฟริกาที่ไกลขึ้นแทน เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว
นายเคลิร์ก กล่าวในการสัมมนารอยเตอร์ส โกลบอล มาร์เก็ตส์ ฟอรัมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า “สำหรับเราแล้วความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ระยะเวลาขนส่งนานขึ้น และอาจทำให้ซัพพลายเชนหยุดชะงักไปอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน ซึ่งเราหวังว่าจะสั้นกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการหยุดชะงักอาจยาวนานขึ้นได้ เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่อาจคาดเดาทิศทางความเป็นไปได้”
ส่วนดัชนีคอนเทนเนอร์ของดรูว์รี (Drewry) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางทะเล เผยให้เห็นว่า อัตราค่าระวางการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวนับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. ขณะที่แหล่งข้อมูลด้านการประกันภัยระบุว่า เบี้ยประกันความเสี่ยงจากสงครามสำหรับการขนส่งผ่านทางทะเลแดงก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้บรรดาผู้บริหารด้านการธนาคารออกมาแสดงความกังวลว่า วิกฤติดังกล่าวอาจก่อให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือแม้กระทั่งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น
“วิกฤติดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากการค้าโลกเกือบ 20% มีการขนส่งผ่านช่องแคบบับอัลมันดับ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญที่สุดของการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ทว่ากำลังอุดตันอยู่ในตอนนี้” นายเคลิร์ก กล่าว
สรท.ชี้สถานการณ์ยืดเยื้อเกินคาดการณ์
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สถานการณ์ในทะเลแดงมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยุโรปและแอฟริกา ซึ่งเดิมคาดว่าสถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อรุนแรง แต่ขณะนี้ต้องประเมินและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มกบฏฮูตีโจมตีเรือสินค้าที่ผ่านทะเลแดงก็ทำให้ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้นหลายเท่าตัวแล้ว
ที่ผ่านกระทรวงพาณิชย์ และสรท.ได้มีความร่วมประชุมกับบริษัทสายเดินเรือเพื่อขอความร่วมมือให้ปรับขึ้นค่าระวางเรือให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งขอให้สายเรือเพิ่มจำนวนเรือในเส้นทางเอเชีย-ยุโรปให้เพียงพอต่อปริมาณสินค้าและรักษาความถี่ในการให้บริการเท่าเดิม เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างระวางเรือ ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์และสินค้าในตลาดให้สินค้าสามารถส่งออกได้ตามกำหนด
นายชัยชาญ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์กลับมาโจมตีต่อเนื่องอีกครั้ง ทำให้สายเรือบางสายจำเป็นต้องประกาศยกเลิกการเดินเรือในทะเลแดงอีกรอบ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย แต่บางสายเดินก็ยังคงเดินเรือผ่านทะเลแดงอยู่ หากเทียบในช่วงปกติก็ถือว่า เบาบางมาก ซึ่งสินค้าจากไทยไปยังตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาเหนือ รวมไปถึงสหรัฐฝั่งตะวันออกบางส่วนต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น จากที่ต้องไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮป
ผู้ส่งออกไทยแบกต้นทุนค่าเรือ
สำหรับค่าระวางจากไทยไปยุโรปพุ่งสูงถึง 3,000-5,000 ดอลลาร์ต่อตู้ หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับ เดือน พ.ย.2566 ที่ค่าระวางอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์ รวมไปถึงผลกระทบอื่นๆเช่น การขาดแคลนพื้นที่ระวางกลับมาอีกครั้งในบางเส้นทาง โดยการส่งสินค้าจากเอชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงยุโรปล่าช้าเพิ่มขึ้น 105% และช้ากว่าเมื่อเทียบกับในช่วงกลางเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วโดยเฉลี่ย 8 วัน เรือจากจีนไปยังยุโรปเสียเวลาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4 วัน และเรือจากเอชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังชายฝั่งตะวันออกสหรัฐล่าช้าไป 2.5 วัน
“มีความเป็นห่วงมาก เพราะขณะนี้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น 4 เท่าในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาก ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ส่งออกไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ ต้องแบกเอง เพราะส่วนใหญ่ตกลงกันล่วงหน้าก่อนผลิตและส่งมอบ ทั้งนี้ในช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้จะมีการประชุมระหว่างกระทรวงพาณิชย์ สรท.และสายเดินเรือ อีกครั้งเพื่อหาทางออกร่วมกัน” นายชัยชาญ กล่าว
นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกของไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบ เพราะยังส่งออกไปได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม หากสถานการณ์ไม่รุนแรง ยืดเยื้อภายในเดือนม.ค.นี้ การส่งออกของไทยก็ยังเดินหน้าได้ แต่จะกระทบให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพราะยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าจะคลี่คลายลงเมื่อใดสิ่งที่น่ากังวลสำหรับการส่งออกมากที่สุดคือ ความรุนแรงขยายวงกว้างขึ้นไป หรือมีความรุนแรงมากขึ้นในทะเลแดงที่เป็นเส้นทางหลักของการส่งออกของทั่วโลก
“ซาอุดีอารามโค” ชี้กระทบการจัดหาเรือบรรทุกน้ำมัน
นายอามิน นาสเซอร์ ซีอีโอของซาอุดี อารามโค ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า วิกฤตการณ์ในทะเลแดงอันเนื่องมาจากเหตุโจมตีของกลุ่มกบฎฮูตีนั้น อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเรือบรรทุกน้ำมัน และทำให้การขนส่งล่าช้า เนื่องจากเรือขนส่งต้องหันไปใช้เส้นทางอื่นที่ใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น
“หากเป็นแค่ในระยะสั้น เรือบรรทุกน้ำมันก็อาจยังมีให้บริการ แต่ถ้าเป็นระยะยาว ก็อาจเกิดปัญหาได้ ดังนั้นจะต้องมีเรือบรรทุกน้ำมันเพิ่มมากขึ้น และพวกเขาจะต้องเดินทางไกลขึ้น” นายนาสเซอร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ นอกรอบการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF)
เนื่องจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย บริษัทขนส่งหลายรายสั่งระงับหรือหลีกเลี่ยงใช้เส้นทางเดินเรือผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งที่ใช้ระยะเวลาน้อยที่สุดระหว่างยุโรปและตะวันออกกลาง รวมถึงเอเชีย ส่วนการเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮปใช้ระยะเวลานานขึ้น 10 วัน
นายนาสเซอร์กล่าวว่า ซาอุดี อารามโค สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางในทะเลแดงผ่านท่อส่งน้ำมันที่เชื่อมโรงกลั่นน้ำมันทางฝั่งตะวันออของประเทศกับชายฝั่งตะวันตก
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และก่อนหน้านี้เคยถูกกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมนโจมตีโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งเมื่อปี 2562