ความเห็น ‘สำนักงบฯ’ ในรายงาน ป.ป.ช. ทำไม ดิจิทัลวอลเล็ต ต้องกู้เงิน 5 แสนล้าน
เปิดรายงานสำนักงบประมาณให้ข้อมูล ป.ป.ช.เรื่องการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล พบสาเหตุการกู้เงินเต็มจำนวน 5 แสนล้านบาท หลังแบงก์ชาติระบุต้องมีเงินวางเต็มจำนวน ไม่สามารถโยกงบฯจากส่วนอื่นได้ ทำให้นายกฯตัดสินใจเปลี่ยนวงเงินกู้จาก 3.5 แสนล้านเป็น 5 แสนล้าน
รายงานเรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ที่จัดทำโดยคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานได้มีการสรุปผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่งให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลต่อไป
โดยรายงานของ ป.ป.ช.ฉบับนี้ทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วอลเล็ต (บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่) ออกไปจากเดิมที่กำหนดให้มีการประชุมวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าการเลื่อนการประชุมเพื่อรอเอกสารจาก ป.ป.ช. และจะเอาเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมบอร์ดดิจิทัล วอลเล็ต ชุดใหญ่ พร้อมกับจดหมายตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาร่วมกัน
ทั้งนี้ในรายงานเรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ที่ป.ป.ช.จัดทำขึ้นได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริงจากการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความเห็นของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน โดยหน่วยงานหนึ่งที่คณะกรรมการได้มีการขอความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำโครงการแจกเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาล คือ "สำนักงบประมาณ" โดยได้ให้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้กับป.ป.ช. ทำให้เราทราบข้อมูลว่าในที่สุดทำไม่รัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการนี้ จากเดิมที่บอกว่าจะไม่กู้เงิน หรือกู้เงินแค่บางส่วน
มาตรา 9 พรบ.เงินตรากำหนดรัฐบาลต้องมีเงินเต็มจำนวน
สำนักงบประมาณให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช.ว่าในช่วงแรกโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีการพิจารณาจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณ ประมาณ 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในการประชุมยังไม่มีการสรุปเนื่องจากวงเงินทั้งโครงการจะสูงกว่านี้ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า หากจะดำเนินโครงการจำเป็นต้องมีเงินรองรับครบเต็มจำนวน มิเช่นนั้นอาจผิดมาตรา 9 พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ต่อมา จึงมีการพิจารณาแหล่งเงินโดยใช้งบประมาณผูกพันข้ามปี
อย่างไรก็ตาม งบประมาณในลักษณะผูกพันข้ามปีงบประมาณสามารถกำหนดวงเงินทั้งสิ้นได้ และจะกำหนดว่าระยะเวลาผูกพันไว้กี่ปี อาทิ กำหนดวงเงินงบประมาณปีละ 1 แสนล้านบาทจำนวน 5 ปี จะมีการทยอยจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี แต่ไม่สามารถนำเงินมาใช้ครั้งเดียว 5 แสนล้านบาทได้ ซึ่งประเด็นนี้ทางผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ในการดำเนินโครงการนี้จะต้องมีเงินครบทั้งจำนวนจึงจะสามารถดำเนินการได้
ความไม่แน่นอนของวงเงิน และที่มาของเงิน
สำนักงบประมาณรายงานด้วยว่าทั้งนี้ในกระบวนการจัดทำงบประมาณจะต้องมีการเสนอคำของบประมาณส่งมายังสำนักงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันขั้นตอนของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ได้ผ่านขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารายละเอียดงบประมาณแล้ว
โดยในช่วงแรกของการพิจารณาซึ่งมีการกล่าวถึงวงเงินที่จะใช้จ่ายประมาณ 1.5 แสนล้านบาทนั้น หากได้มีการพิจารณาและทราบว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ก็สามารถเป็นหน่วยขอรับงบประมาณในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามกระบวนการงบประมาณได้
โดยในที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เสนอให้มีการใช้งบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท
แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้เปลี่ยนเป็นการใช้เงินกู้ทั้งหมด จำนวน 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ไม่ได้สนอตั้งงบประมาณโดยใช้จากงบกลาง
“หากต้องใช้งบประมาณสำหรับโครงการนี้จริงก็ต้องปรับลดงบประมาณที่จะตั้งให้หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งย่อมกระทบต่อหน่วยงานอื่นโดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการดำเนินการที่อาจต้องเลื่อนออกไป เช่น งานก่อสร้างอาจต้องมีการขยายระยะเวลา โดยพิจารณาว่า พอจะเลื่อนระยะเวลาของโครงการไหนออกไปได้บ้าง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่ใช้แหล่งเงินจากงบประมาณ และไปใช้การกู้เงินแทน”
กันเงิน 1.5 แสนล้านชดใช้เงินคงคลัง
ซึ่งในส่วนของเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่ตอนแรกมีการคาดว่าจะนำมาสนับสนุนโครงการจะนำไปเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังของ ปี พ.ศ.2566 ที่ตอนนี้มีรายงานการใช้วงเงินคงคลังของปี 2566 แล้วประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาท
จัดงบฯเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน 1 หมื่นล้าน
โดยหลักการของการเป็นหน่วยรับงบประมาณ คือ หน่วยงานที่จะเป็นหน่วยรับงบประมาณต้องมีภารกิจหน้าที่ในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน ในส่วนของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 มิได้ใช้เงินกู้ โดย
งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว มีงบประมาณสำหรับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท