กทม. พับแผนลงทุนรถไฟฟ้า 1.9 แสนล้าน โอน รฟม.เดินหน้าต่อ
กทม.ล้มโครงการลงทุนระบบราง ชง คจร.โอนรถไฟฟ้าสายสีเทา และสายสีเงิน กว่า 1.9 แสนล้านบาท ให้ รฟม.ดำเนินการ “ชัชชาติ” เชื่อเครือข่ายรถไฟฟ้ากำกับดูแลเพียงรายเดียวเป็นประโยชน์ในการบริหารราคาค่าโดยสาร
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า แผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมใน กทม.ขณะนี้ประเมินว่า กทม.จะไม่เป็นผู้ลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทางราง โครงการรถไฟฟ้าด้วยงบประมาณของ กทม.แล้ว เนื่องจากมีงานอื่นที่ต้องเร่งดำเนินการอีกมากมาย อาทิ งานด้านทางสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆ งานสาธารณูปโภค งานด้านการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าที่ กทม.ดำเนินการไว้ในก่อนหน้านี้ และอยู่ในแผนผลักดันจัดใช้งบประมาณ ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กิโลเมตรและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กิโลเมตร กทม.จะโอนกลับคืนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการ
โดยสถานะในขณะนี้ กทม. ได้เสนอเรื่องการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายดังกล่าวไปยังคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแล้ว หาก คจร. เห็นชอบตามที่ กทม. เสนอ โครงการถไฟฟ้าทั้งสองสายนั้นก็จะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ รฟม.ที่จะจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาต่อไป
กทม.คงส่วนต่อขยายสายสีเขียว
ส่วน กทม.จะคงเหลือโครงการลงทุนรถไฟฟ้าเพียงสายเดียว คือ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการลงทุนเพื่อให้โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสมบูรณ์ โดย กทม.เสนอขอใช้งบประมาณประจำปี 2568 เพื่อดำเนินการศึกษาโครงการนี้ โดยรูปแบบการลงทุนจะจัดทำลักษณะเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี)
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงสถานีกรุงธนบุรี-คลองสาน ซึ่งก่อนหน้านี้ กทม. มีแผนจะก่อสร้างในระยะที่ 2 ต่อไปอีก 1 สถานี ได้แก่ สถานีประชาธิปก เป็นสถานีที่ 4 และเป็นสถานีสุดท้ายของโครงการที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (กาญจนาภิเษก) ปัจจุบันคงต้องรอดูการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ และ กทม.จะพิจารณาการลงทุนหลังจากนั้น
“การโอนโครงการรถไฟฟ้าให้กับ รฟม.เพราะเราเชื่อว่าการทำเครือข่ายรถไฟฟ้าโดยมีผู้กำกับดูแลเพียงรายเดียว จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการมีหลายผู้กำกับ ปัญหาเรื่องระบบตั๋วก็จะน้อยลง สามารถบริหารจัดการได้เบ็ดเสร็จ เชื่อมต่อสะดวก เกิดประโยชน์ต่อประชาชน บริหารจัดการต้นทุนและค่าโดยสารได้ดีกว่ามีผู้กำกับหลายราย”
ระบุให้ผู้เชี่ยวชาญรถไฟฟ้าดูแลดีกว่า
นอกจากนี้ กทม.ไม่ได้มีหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญในการกำกับดูแลรถไฟฟ้า ขณะที่ทาง รฟม. มีผู้เชี่ยวชาญ และดำเนินโครงการก่อสร้าง และกำกับดูแลรถไฟฟ้ามาแล้วหลายสาย จึงควรให้ รฟม. เป็นผู้กำกับดูแลทั้งหมด ส่วน กทม.มีหน้าที่ต้องดำเนินการอีกมาก โดยเฉพาะการดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
รายงานข่าวจาก กทม. เผยว่า ก่อนหน้านี้ กทม.ได้ศึกษาแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้า 2 สาย ประกอบด้วย สายสีเงิน และสายสีเทา โดยจะดำเนินการพัฒนาในรูปแบบโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) แบ่งเป็น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการศึกษาพัฒนาในระยะทาง 19.7 กิโลเมตร จำนวน 14 สถานี โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ 12 สถานี ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร และระยะที่ 2 ธนาซิตี้-สุวรรณภูมิใต้ 2 สถานี ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร ค่าลงทุนโครงการรวม 1.35 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,181 ล้านบาท ค่างานโยธา และงานระบบรถไฟฟ้า 36,020 ล้านบาท ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 6,720 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 91,767 ล้านบาท สัมปทาน 30 ปี
คาดสายสีเทาผู้โดยสารเฉียดแสนคน
โดยผลการศึกษารูปแบบลงทุนจะจัดทำลักษณะ PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี พร้อมทั้งคาดว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ในปีแรกที่เปิดใช้จะสูงถึง 82,695 คนเที่ยวต่อวัน และในปี 2578 กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คนเที่ยวต่อวัน
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล – ทองหล่อ ก่อนหน้านี้ กทม.ได้ศึกษาแนวเส้นทางมีระยะทาง 16.3 กิโลเมตร 15 สถานี มูลค่าลงทุนอยู่ที่ 6.28 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตอบแทนและการชดเชยการใช้ที่ดิน 2.05 พันล้านบาท ค่าก่อสร้าง (งานโยธา-งานระบบรถไฟฟ้า-งานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า) 2.31 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 100 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานฯ 841 ล้านบาท ค่าออกแบบ 462 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำรอง 1.32 พันล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 34,938 ล้านบาท
โดยผลการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น จะใช้การร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost เอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้ และเป็นผู้จ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐ ในระยะเวลา 30 ปี พร้อมคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดใช้จำนวน 97,000 คนเที่ยวต่อวัน