'พิมพ์ภัทรา' รับฟังปัญหา กรอ.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ก่อนชงครม.สัญจร
“พิมพ์ภัทรา” ประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เตรียมครม.สัญจร พร้อมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมและรับฟังปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กรอ.)ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเตรียมนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการประชุมสอบถามความต้องการขอรับการสนับสนุน ปัญหาและ อุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะของผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ เพื่อนำเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดระนอง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง
โดยในการประชุมมีการนำเสนอประเด็นและความต้องการขอรับการสนับสนุนในหลายประเด็น อาทิ การนำเสนอประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ด้วยการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น โครงการพัฒนาและยกระดับ Andaman Wellness and Spa ที่มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากร เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ Wellness and Spa โดยการบูรณาการร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยให้จังหวัดระนอง เป็นเจ้าภาพหลัก
การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุน การผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งในการแก้ไขควรจัดให้มีการฝึกอบรมเรื่องการลดใช้พลังงาน การสนับสนุนพลังงานทดแทน ปรับปรุงเครื่องจักรที่ทำให้ประหยัดพลังงาน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยกระดับมาตรฐานฮาลาลของไทย เพื่อตอบสนองความต้องการขยายตัวของตลาดโลก โดยการจัดตั้งองค์กรกลางหรือมาตฐานที่เกี่ยวกับฮาลาลที่นานาชาติยอมรับ เพื่อให้สามารถจำหน่ายในประเทศต่างๆได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศมุสลิม
การเพิ่มมูลค่าสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และแปรรูปเกษตรอื่น ๆ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลตามแนวทาง BCG Model ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้กลุ่มอันดามัน โดยต้องเป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม การขาดแคลนฝีมือแรงงาน โดยได้ขอรับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้อง ตามความต้องการของสถานประกอบการ
การสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัด ที่ได้ขอให้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับในการเข้าถึงสินเชื่อ
นอกจากนี้ มีการนำเสนอประเด็นอื่น ๆ อาทิ พื้นที่ที่เหมาะสมในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง แต่ไม่สามารถขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ ซึ่งเรื่องนี้ มีการเสนอให้แก้ไขผังเมืองให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ได้สร้างภาระเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการโรงงาน ซึ่งได้มีการเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วย
“ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน กระทรวงฯ รับทราบถึงกรณีที่เกิดขึ้นและจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 23 ม.ค. 2567 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อเยี่ยมชมสถานประกอบการ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ซูริมิ ซอฟท์เซลล์ สินค้าปู สินค้ากุ้ง และบริษัท มินเนอรัล รีซอร์สเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เหมืองดินขาว MRD)
โดยบริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ได้รับมาตรฐาน BRC , ISO 9000 ปี 2015, GMP, HACCP, HALAL เป็นต้น รวมทั้งได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 2 และยังเข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมในการติดตั้งระบบ Sensor เพื่อควบคุมค่ามาตรฐานต่างๆในสถานที่เก็บ เพื่อให้สามารถแสดงค่าของปัจจัยได้ตลอดเวลา ผ่านระบบ loT on Cloud เพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพสถานประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 ปี 2565 ด้วย ในการเยี่ยมชม บริษัทฯ ได้ชี้แจงถึงปัญหา อุปสรรคที่พบทั้งค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และไม่สามารถคุมราคาขายกับผู้บริโภคได้ ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ ได้เตรียมที่จะส่งเสริมเรื่องการลดใช้พลังงานในโรงงาน อบรมการใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งการจัดการ Logistic เพื่อทำ Cost Cutting เป็นต้น
ส่วนบริษัท มินเนอรัล รีซอร์สเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เหมืองดินขาว MRD) ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผลิตแร่ดินขาวได้ปริมาณและคุณภาพที่ดี สามารถผลิตป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งแร่ดินขาวให้กลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศ ประมาณร้อยละ 80 และส่งออกต่างประเทศ ร้อยละ 20 ได้รับมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ มอก. 9001-2559 และระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย มอก. 45001-2561 เข้าร่วมโครงการ CSR-DRIM ตั้งแต่ปี 2555 และเข้าร่วมเครือข่าย CSR-DRIM ตั้งแต่ปี 2557 และได้รับมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวประจำปี 2566 และการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 2 ตั้งแต่ปี 2554 และระดับ 3 ตั้งแต่ปี 2560
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีอุปสรรคและปัญหาบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไขและสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูก ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาต้นทุนพลังงานสูง ปัญหาความซับซ้อนและใช้เวลานานในการขออนุญาตและประทานบัตร และปัญหาระยะเวลาในการขออนุญาตนำแร่ออกนอกเขตไหล่ทวีป
ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงฯ จะเข้าไปส่งเสริมการสร้างมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการให้ความรู้ภาษาอังกฤษ สนับสนุน/ส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ด้านเหมืองแร่ประจำที่จังหวัดระนอง การจ่ายค่าภาคหลวงออนไลน์ที่จังหวัดระนอง เป็นต้น