ลุ้น 'พลังงาน' ต่อมาตรการอุ้มราคาน้ำมัน 'เบนซิน'

 ลุ้น 'พลังงาน' ต่อมาตรการอุ้มราคาน้ำมัน 'เบนซิน'

จับตาสัปดาห์นี้ “พีระพันธุ์” เคาะลดราคาน้ำมัน “เบนซิน” ต่อโดยยกภาระให้กองทุนน้ำมันฯ รับผิดชอบโดยตรง ภายหลังมาตรการลดราคาโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร จากเดิม “คลัง” ช่วยลดภาษีให้ 1 บาทต่อลิตร จะครบกำหนด 31 ม.ค. 67

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงมาตรการดูแลราคาน้ำมันเบนซินตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 โดยเห็นชอบแนวทางการลดค่าครองชีพประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในกลุ่มน้ำมันเบนซินเพื่อให้ราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 7 พ.ย. 2566 – 31 ม.ค. 2567 ใกล้จะครบกำหนดแล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันเบนซินขณะนี้มีราคาต่ำลงกว่าช่วงเดือนพ.ย. 2566 ที่กระทรวงพลังงานนำเสนอมาตรการเข้าดูแลกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ดังนั้น จึงต้องขอดูก่อนว่าจะพิจารณาลดราคาต่อไปหรือไม่

“ราคาตอนนี้ต่ำกว่าช่วง 3 เดือนที่แล้ว แต่ยืนยันว่ากระทวงพลังงานจะดูแลราคาพลังงานไม่ให้สูงเกินและเป็นภาระต่อประชาชนแน่นอน โดยจะต้องดูฐานะการคลังและฐานะทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ ร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในกรอบขีดความสามารถของกองทุนน้ำมันฯ”

สำหรับมาตรการลดราคากลุ่มน้ำมันเบนซินได้ใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร จากกระทรวงการคลัง ร่วมกับใช้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) อุดหนุนเพื่อทำให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงรวม 2.50 บาทต่อลิตร ประกอบด้วย โดยราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 2.50 บาทต่อลิตร, ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 1 บาทต่อลิตร ส่วน E20 และ85 ลดลง 80 สตางค์ต่อลิตร

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเกษตรกรและชาวประมง เพื่อจัดหาน้ำมันราคาถูกให้กลุ่มเกษตรกรใช้ ในลักษณะคล้ายน้ำมันเขียวของชาวประมง ขณะนี้ อยู่ระหว่างร่างกฏหมาย ซึ่งเมื่อต้นร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะต้องเอามาดูว่าจะต้องปรับแก้ไขตรงไหนเพิ่มเติมอีก ส่วนราคาจะยังไม่กำหนด แต่ยืนยันว่าจะถูกกว่าราคาหน้าสถานีบริการน้ำมันทั่วไปแน่นอน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะมีการหารือถึงแนวโน้มราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินว่าจะมีการสนับสนุนราคาอย่างไร ซึ่งแนวโน้มคงไม่มีการอุดหนุนด้านการลดภาษีสรรพสามิตจากกระทรวงการคลังแล้ว ดังนั้น จึงจะเป็นหน้าที่ของกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาดูแล

อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายของนายพีระพันธุ์ ต้องการให้ราคาน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น หากกระทรวงการคลังไม่ร่วมมารตรการลดภาษีน้ำมันให้ครั้งนี้ การจะปรับขึ้นทันที 1 บาทต่อลิตร คงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันทันที อย่างมากก็จะปรับขึ้นระดับ 50-80 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมาก กระทรวงพลังงานคงไม่ปรับราคาขึ้นขนาดนี้ทีเดียว

“ช่วง 3 เดือนนี้แม้ราคาเบนซินจะไม่ลง โดยช่วง 2 สัปดาห์นี้จะมีการปรับขึ้นราคาราว 30-50 สตางค์ต่อลิตร แต่ก็ยังถูกกว่าช่วงต้นเดือนพ.ย. 2566 ถือเป็นช่วงที่รมว.พลังงาน เสนอมาตรการลดราคาเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้เบนซินให้ครอบคลุม ดังนั้น สัปดาห์นี้จะต้องมาดูแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกอีกครั้ง”

แหล่งข่าว กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ากระทรวงการคลังคงไม่ร่วมลดภาษีเบนซินในครั้งนี้ เพราะเชื่อว่ากองทุนน้ำมันฯ ยังสามารถบริหารจัดการได้ อีกทั้ง ในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา เห็นชอบลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 6 พันล้านบาท จากเดิมที่เคยลดให้ 2.5 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ใช้เงินเข้าอุดหนุนกลุ่มดีเซลระดับ 3-4 บาทต่อลิตร ส่วนเบนซินยังถือว่ามีเงินเข้าบัญชีอยู่บ้าง

สำหรับฐานะกอทุนน้ำมันฯ วันที่ 21 ม.ค. 2566 ติดลบ 83,020 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 36,594 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 46,426 ล้านบาท ส่วนเงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงินมีการเบิกเข้าบัญชีแล้วที่ 75,000 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุว่า ตลอดปี 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้บริหารจัดการราคาขายปลีกของกลุ่มดีเซล โดยปรับลดราคาขายปลีกดีเซลไปแล้วรวม 7 ครั้ง จากราคา 35 บาทต่อลิตรมายืนระยะที่ 32 บาทต่อลิตร ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนมาถึงปัจจุบันมีการปรับราคาลดลงมาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร จากผลของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ให้ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตและกลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาระดับราคาขายปลีก

ในขณะที่ การรักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ทยอยปรับราคาจาก 408 บาทต่อถัง 15 กก. เป็น 423 บาทต่อถัง 15 กก. ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2566 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ