‘ไทย’ ได้อานิสงส์ จีน แบน ออสเตรเลีย ส่งออก ‘กุ้งล็อบสเตอร์’ ไปแล้ว 500 ล้านบาท
“ไทย-อินโดนีเซีย-เวียดนาม” ชิงผู้นำส่งออก “กุ้งล็อบสเตอร์” ขานรับแนวโน้มดีมานด์จีนขยายตัว-ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ด้าน “ไทย” ส่งออกล็อบสเตอร์เพิ่มขึ้น “160 เท่า” มูลค่ารวม “500 ล้านบาท”
“จีน” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการนำเข้าอาหารทะเลสูงมาก โดยปัจจุบันมี “นิวซีแลนด์” และฝั่งอเมริกาเหนือเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลในจีน ด้วยสัดส่วนมากถึง 3 ใน 4 โดยเฉพาะ “กุ้งล็อบสเตอร์” ซึ่งปัจจุบันพบว่า ไม่ได้มีแค่ฝั่งอเมริกาเท่านั้น แต่ “ไทย” “อินโดนีเซีย” และ “เวียดนาม” ยังร่วมชิงแชร์-ผงาดผู้ส่งออกล็อบสเตอร์ให้กับจีนมากขึ้นหลายเท่าตัวด้วย
สำนักข่าว “เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์” (South China Morning Post) รายงานถึงโอกาสในการเป็นผู้ส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ในจีน ณ ขณะนี้ว่า ปัจจุบันแหล่งที่มาของล็อบสเตอร์ในจีนเป็นของ “นิวซีแลนด์” 40% รองลงมาคือ “เม็กซิโก” 20% และ “สหรัฐ” 16% โดยช่องว่างที่เหลืออยู่มีอีก 3 ประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามอย่างหนักเพื่อคว้าส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากชนชั้นกลางจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ก่อนหน้านี้ “จีน” เคยนำเข้ากุ้งล็อบสเตอร์จาก “ออสเตรเลีย” ด้วยสัดส่วนกว่า 50% แต่ทุกอย่างหยุดชะงักลงเป็นเวลาเกือบๆ 3 ปีครึ่งแล้ว เนื่องจากกรณีพิพาทระหว่าง “ออสเตรเลีย-จีน” โดยแดนจิงโจ้เคยออกมาประณามและเรียกร้องความรับผิดชอบจากจีนสำหรับกรณีการแพร่ระบาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่นั้น “จีน” ได้มีคำสั่งห้ามนำเข้ากุ้งล็อบสเตอร์จากออสเตรเลียทันที แม้ว่าตอนนี้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่คำสั่งเรื่องการห้ามนำเข้ายังคงอยู่เหมือนเดิม
ปัจจุบันทั้งสามประเทศในอาเซียน “ไทย-อินโดนีเซีย-เวียดนาม” ถือส่วนแบ่งตลาดล็อบสเตอร์ในจีนรวมกัน 6.8% เพิ่มขึ้นกว่า “สองเท่า” นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยมี “อินโดนีเซีย” ครองเบอร์ 5 ในฐานะผู้ส่งออกมา มีมูลค่าส่งออกรวม “18.27 ล้านดอลลาร์” หรือคิดเป็นเงินไทยราว “652 ล้านบาท” เพิ่มขึ้นจากปี 2565 กว่า 44% ส่วน “ไทย” ครองอันดับ 7 มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า “160 เท่า” จากมูลค่าในปี 2562 อยู่ที่ “88,123 ดอลลาร์” ตีเป็นเงินไทยราว “3 ล้านบาท” ปี 2565 ส่งออกล็อบสเตอร์ด้วยมูลค่า “14.1 ล้านดอลลาร์” หรือ “500 ล้านบาท”
ส่วน “เวียดนาม” เป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 8 มีมูลค่าการส่งออกลดลงอย่างมากจากปีก่อนหน้า ลดลงกว่า 39% เนื่องจากกุ้งล็อบสเตอร์ของเวียดนามขาดพร่องซึ่งกฎระเบียบและขั้นตอนการทำฟาร์ม “เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์” ระบุว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเวียดนามบางรายจับกุ้งล็อบสเตอร์ป่ามาขาย ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ของจีนอย่างชัดเจน นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจีนจึงสั่งห้ามนำเข้ากุ้งล็อบสเตอร์จากเวียดนามเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีอาเซียนมาอุดรอยรั่วดังกล่าวแล้วแต่ก็พบว่า กุ้งล็อบสเตอร์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศอยู่ดี โดยมูลค่าการนำเข้าทั้งตลาดกุ้งล็อบสเตอร์ก่อนมีคำสั่งแบนอยู่ที่ “900 ล้านดอลลาร์” ทว่า ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มูลค่าลดลงเหลือเพียง “600 ล้านดอลลาร์” เท่านั้น
ด้าน “เจมส์ คลาร์ก” (James Clarke) ประธานสภาธุรกิจจีนแห่งออสเตรเลียยังหวังว่า กุ้งล็อบสเตอร์ออสเตรเลียที่เคยเป็นผู้นำเข้าสัดส่วนใหญ่ที่สุดในจีนจะได้ทำงานร่วมกันอีกครั้ง
“อุตสาหกรรมกุ้งล็อบสเตอร์ทำงานอย่างหนัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานระหว่างออสเตรเลียและจีน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดสดใหม่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมของออสเตรเลีย ยังคงมอบคุณภาพและมูลค่าที่ยอดเยี่ยมให้กับผู้บริโภคชาวจีน”
อ้างอิง: South China Morning Post