ถอดปมเวนคืนสร้าง 'แลนด์บริดจ์' ประชาชนหวั่นไม่เข้าข่ายชดเชย

ถอดปมเวนคืนสร้าง 'แลนด์บริดจ์' ประชาชนหวั่นไม่เข้าข่ายชดเชย

“คมนาคม” ถอดปมข้อสงสัยประชาชนค้านสร้าง “แลนด์บริดจ์” พบปัญหาหลักกังวลผลกระทบเวนคืนที่ดิน เหตุไม่มีเอกสารสิทธิถือครอง สั่ง สนข.ลงพื้นที่สำรวจครัวเรือน เล็งจัดตั้ง “กองทุนแลนด์บริดจ์” บรรจุในเอกสารประมูลโครงการ โยนเอกชนเยียวยา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า จากการลงพื้นที่หารือร่วมกับประชาชนพบว่ามีข้อกังวลหลักเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินเพื่อมาพัฒนาโครงการนี้ ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก และเกรงว่าประชาชนจะถูกเวนคืน กระทบต่อการทำมาหากินที่ส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อกังวลว่าการเวนคืนที่ดินนั้น ประชาชนจะไม่ได้รับการชดเชย หรือเยียวยาผลกระทบ เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนที่ไม่มีเอกสารสิทธิถือครองที่ดิน ส่งผลให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การชดเชยเวนคืนตามกฎหมาย เบื้องต้นกระทรวงฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลบ้านเรือนประชาชนและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

อีกทั้งได้ให้ศึกษาแนวทางจัดตั้งกองทุนแลนด์บริดจ์เพื่อนำเงินจากกองทุนมาชดเชยแก่ประชาชนกลุ่มไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน โดยเบื้องต้นพบว่าแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ อาจจะเป็นการบรรจุเงื่อนไขจัดตั้งกองทุนเพื่อนำเงินมาชดเชยส่วนนี้ ระบุไว้ในเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) โดยเอกชนที่ยื่นข้อเสนอจะต้องมีข้อเสนอเกี่ยวกับสัดส่วนเงินที่จะนำมาจัดตั้งกองทุน นอกเหนือจากการให้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐสูงสุด

“ในเมื่อประชาชนมีข้อกังวลเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินจะไม่ได้รับการเยียวยา ในฐานะภาครัฐก็ต้องหาทางออกส่วนนี้ เพราะพบว่าพื้นที่ที่ประชาชนครอบครองอยู่ ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยและการเกษตรเพื่อหารายได้ เพาะปลูกผลไม้ประเภททุเรียน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ”

สำหรับเงื่อนไขของการพิจารณาให้คะแนนเอกชนที่ยื่นข้อเสนอร่วมประมูลโครงการในขณะนี้ นอกจากการประเมินจากแผนพัฒนาโครงการ การให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐสูงสุด ยังต้องมีการให้สัดส่วนเงินสนับสนุนเข้ามาจัดตั้งกองทุนแลนด์บริดจ์เพื่อเยียวยาประชาชนด้วย ซึ่งหากพิจารณาข้อเสนอเหล่านี้และพบว่าเอกชนรายใดให้ผลประโยชน์แก่รัฐ และประเทศไทยมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะร่วมลงทุนในโครงการนี้

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมั่นใจ 90% ว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้นแน่นอนภายในรัฐบาลนี้ เพราะผลจากการโรดโชว์เอกชนแสดงความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนจากดูไบ บริษัท ดูไบ พอร์ต เวิลด์ (DP World) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า แสดงความสนใจร่วมทุน และนัดจะมาลงพื้นที่พร้อมหารือรายละเอียดโครงการ อีกทั้งเอกอัครราชทูตจีนยังได้ติดต่อมายังกระทรวงฯ เพื่อให้เร่งเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศจีน

ท่ามกลางแรงผลักดันของรัฐบาลที่มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้น ฟากเสียงของประชาชนในพื้นที่กลับมีความกังวลต่อผลกระทบและการดำเนินชีวิตต้องปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเวนคืนที่ดิน โดยรัฐบาลได้ตอบข้อสงสัยส่วนนี้ว่า จะมีหลักเกณฑ์พิจารณาการเวนคืนที่ดิน ประกอบด้วย

พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์

  • พิจารณาภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 สำหรับราคาในการจ่ายค่าทดแทนให้กับผู้ได้รับผลกระทบคณะกรรมการกำหนดราคา จะนำปัจจัยหลายๆ ด้านมาประกอบการพิจารณา โดยจะไม่ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์มากำหนดราคา เนื่องจากราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

พื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์/ที่ดิน

  • ได้มอบหมายให้ ส.ป.ก. ประสานกับกระทรวงเกษตรฯ และจะเจรจาด้านผลประโยชน์จากผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. โดยมีแนวทางเพื่อเสนอประกอบการอนุมัติโครงการฯ เช่น การชดเชยค่ารื้อย้าย ค่าชดเชยพืชผล ต้นไม้การหรือจัดที่ดิน ส.ป.ก. แปลงอื่นให้ หรือการจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่ รวมถึงเงินเยียวยาที่ต้องโยกย้ายออกจากที่ดิน เป็นต้น

ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะเดินหน้าได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ประชาชนในพื้นที่จะเห็นชอบและสนับสนุนการพัฒนาโครงการนี้อย่างไร คงต้องจับตาดูการชี้แจง ทำความเข้าใจ และกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่ภาครัฐกำลังจะดำเนินการหลังจากนี้

ขณะที่เป้าหมายการทำงาน กระทรวงคมนาคมกำหนดไว้ว่าภายในไตรมาส 1 ปีนี้ จะโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2569 ส่วนการเวนคืนที่ดินจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2569 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573