มุมมอง ‘ไอเอ็มเอฟ’ เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ | บัณฑิต นิจถาวร

มุมมอง ‘ไอเอ็มเอฟ’ เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ | บัณฑิต นิจถาวร

ช่วงกลางเดือน คณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟได้พิจารณารายงานประจำปีเศรษฐกิจไทยและแนะนำให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่มีอยู่โดยปฏิรูปเศรษฐกิจ

เพื่อยกระดับผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้นในระยะยาว เป็นคําแนะนําที่ตรงกับความเห็นของธนาคารโลกที่ผมเขียนถึงในบทความอาทิตย์ที่แล้ว

คําถามคือทําไมการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศเราจึงยาก ไม่มีการดำเนินการจริงจัง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มแผ่ว ขยายตัวร้อยละ 2.5 ปีที่แล้ว ไม่เข้มแข็งและตํ่ากว่าปีก่อนหน้า ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายของภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ปีหน้าหมายถึงปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้น 

โดยแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว การส่งออกที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแต่อยู่ในเป้าของธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับความเสี่ยงยังเป็นด้านลบทั้งความเสี่ยงภายในและภายนอก ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจากภายนอกคือ เศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจสูงขึ้น ภาวะการเงินในตลาดการเงินโลกที่ตึงตัว และภูมิศาสตร์การเมืองที่อาจรุนแรง ส่วนภายในประเทศ ความเสี่ยงอยู่ที่การรักษาวินัยการคลัง ปัญหาหนี้ภาคเอกชน และโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมาก

ในสายตาไอเอ็มเอฟ เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เพราะปัญหาโครงสร้างที่มีอยู่ซึ่งเป็นความอ่อนแอเฉพาะของเศรษฐกิจไทย แนะนำให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ลดการควบคุมที่ไม่จำเป็น ยกระดับทักษะแรงงาน และปรับปรุงระบบการช่วยเหลือคนในสังคม หรือ Social safety net ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

สําหรับระยะสั้น รัฐบาลควรนํานโยบายการเงินการคลังกลับสู่ระดับปกติที่เป็นกลางในแง่การสนับสนุนเศรษฐกิจ วางเป้าไว้ที่การลดหนี้สาธารณะในระยะยาว ยกเลิกการอุดหนุนราคาซึ่งเป็นภาระที่สิ้นเปลือง ใช้นโยบายการคลังช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย และปรับโครงสร้างภาษี

ส่วนนโยบายการเงินควรเป็นกลางในแง่เศรษฐกิจ ด้านสถาบันการเงิน ควรเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ในการแก้ปัญหา ไม่ใช่การปลดหนี้หรือลดหนี้ เพื่อไม่ให้กระทบวินัยในการกู้ยืม

คําแนะนำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และตรงกับธนาคารโลกที่แนะนำให้ประเทศไทยปฏิรูปเศรษฐกิจและลงทุนเพื่อสร้างฐานการเติบโตใหม่ให้กับเศรษฐกิจ คําถามคือทําไมการปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศเราจึงล่าช้าไม่เกิดขึ้น ทําไมจึงยากและไม่มีใครผลักดัน แม้จะตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหา สะท้อนจากแผนและยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศที่มีมากมาย

ความเห็นผมในเรื่องนี้มีสามเรื่อง

1.การโตตํ่าของเศรษฐกิจเป็นผลจากนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการเมืองของประเทศช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา ที่มุ่งเรื่องอํานาจมาก ทั้งชิงและรักษาอำนาจ ทําให้โฟกัสเรื่องเศรษฐกิจ การมองไปข้างหน้า คือ การสร้างและพัฒนาประเทศมีน้อยลงหรือหายไป ทําให้ประเทศเสียโอกาส ไม่ได้ทําในสิ่งที่ควรทํา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโต

2.การขาดโฟกัสสะท้อนชัดเจนจากนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมา ที่สาระหลักคือการใช้เงินบรรเทาความเดือดร้อน อุดหนุนราคา ลดกฎระเบียบและมาตรฐานที่ควรมีให้ต่ำลง และหาประโยชน์จากทรัพยากรที่รัฐมี มากกว่าจะแก้ปัญหาพัฒนาหรือสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดเพื่อรักษาสิ่งที่มีอยู่ให้อยู่ต่อไป

ผลคือ เศรษฐกิจขาดพลัง ขาดการลงทุน ขาดพลวัตที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า เหมือนจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่เติบโตอย่างที่ควร ทําให้หลายประเทศแซงเรา ตามเราทัน หรือยิ่งทิ้งห่างออกไป

3.การปฏิรูปหมายถึงการเปลี่ยนแปลง ทําให้ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวจะเสียประโยชน์หรือสูญเสียสิ่งที่มีถ้าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จึงไม่ชอบการปฏิรูป ทําให้การปฏิรูปเศรษฐกิจผลักดันยาก แม้ตัวอย่างในหลายประเทศที่ปฏิรูปเศรษฐกิจและประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศจะชี้ชัดว่า

การปฏิรูปเศรษฐกิจจะนํามาสู่การพัฒนาประเทศในระดับที่สูงขึ้นเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและส่วนรวมที่ทุกคนจะได้ประโยชน์

ถ้าเราจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจขณะนี้และนโยบายเศรษฐกิจอย่างที่ได้ทํามาต่อเนื่อง ว่าเป็น Plan A ชัดเจนว่า Plan A ได้นําเรามาสู่จุดนี้ คือ เศรษฐกิจโตตํ่า ปัญหามีมาก ความเหลื่อมล้ำมีสูง และเศรษฐกิจขาดตัวขับเคลื่อนที่จะผลักดันการเติบโตและสร้างรายได้ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ดังนั้น ถ้าเรายังยึด Plan A ต่อไป ทําซํ้าต่อไปเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยน เราก็จะเหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น หรืออาจแย่ลง ซึ่งก็คืออนาคตประเทศและอนาคตคนทั้งประเทศ

สิ่งที่ทั้งไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกเสนอในความเห็นของผมคือ Plan B ที่เศรษฐกิจไทยควรมีการปฏิรูปและลงทุนเพื่อสร้างเส้นทางการเติบโตใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน โดยปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ที่จำเป็น

เช่น กฎระเบียบ การบังคับใช้กฎหมาย การแข่งขัน การศึกษา ทักษะแรงงาน การบริหารจัดการของภาครัฐ ระบบการให้ความช่วยเหลือคนในสังคม และธรรมาภิบาล 

สิ่งเหล่านี้จะยกระดับความสามารถของเศรษฐกิจ สร้างโอกาสให้กับคนในประเทศ นําไปสู่การสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนทั้งประเทศ และ Plan B เป็นทางเลือกที่ผู้ทํานโยบายหรือผู้บริหารประเทศสามารถทําให้เกิดขึ้นได้

ที่ต้องตระหนักคือการเลือก Plan A หรือ Plan B เป็นหน้าที่และจิตสำนึกของผู้ทํานโยบาย ที่กระทบคนไทยทุกคน.

มุมมอง ‘ไอเอ็มเอฟ’ เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ | บัณฑิต นิจถาวร