GDP…ที่ไม่รู้จัก และ GDP.......ที่เราไม่รู้
GDP กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนกล่าวขวัญถึงกันทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราการเปลี่ยนแปลงของมัน หรือที่รู้จักกันในชื่อของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ซึ่งเรียกกันง่าย ๆ ว่า GDP Growth ลองมาดูกันว่ามีอะไรเกี่ยวกับ GDP ที่เราไม่รู้กันบ้าง
GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งเป็นตัวหนึ่งในบัญชีรายได้ประชาชาติ GDP คือรายได้รวมของผู้คนที่อยู่ในแต่ละประเทศอันเกิดจากการผลิตในเวลา 1 ปี ดังนั้น GDP ไทยจึงรวมรายได้ของทุกคนที่เกิดจากการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรอบเวลา 1 ปี
บนแผ่นดินขวานทอง การคำนวณ GDP เป็นเรื่องที่ยากเพราะไม่อาจนำรายได้ของทุกคนมาบวกกัน เพราะมันจะเกิดการนับซ้ำหลายครั้งเนื่องจากบุคคลหนึ่งมีทั้งรายได้จากการผลิตและจากเงินโอน (มีคนให้ จากการพนัน การถูกหวย ฯลฯ) และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำกับคน 70 ล้านคน
เหตุที่ต้องเป็นเรื่องของการผลิตเพราะต้องการตัวเลขที่สะท้อนการสร้างสิ่งที่มีมูลค่า มิใช่จู่ ๆ ก็ได้มาโดยมิได้ออกแรง
GDP รวมเฉพาะรายได้ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผ่านตลาดเท่านั้น และทั้งหมดต้องเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายด้วย
ตัวอย่างเช่นการผลิตของแม่บ้านในงานการดูแลบ้าน ดูแลสามี ลูก ซักผ้า ทำอาหาร ฯลฯ จะไม่ถูกรวมใน GDP ในขณะที่รายได้ของคนที่รับจ้างมาทำงานบ้านในลักษณะเดียวกันจะถูกรวมอยู่ (ไม่ควรแต่งงานกับแม่บ้านเพราะจะทำให้ GDP ลดลง)
ส่วนรายได้จากการทำงานของหญิงบริการ ผู้ผลิตโคเคนหรือเฮโรอีนหรือ ยาไอซ์ ผู้ผลิตเหล้าเถื่อน ฯลฯ ไม่ได้รวมอยู่ใน GDP ถึงแม้จริงๆแล้วจะสร้างรายได้ก็ตาม
ถ้ารัฐบาลไหนจะแหกคอกเพื่อให้ GDP มีขนาดใหญ่โตขึ้นจนเรียกได้ว่ามีอัตราการเติบโตสูง ก็ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจใต้ดินเช่นของหญิงบริการ ของผู้ผลิตยาเสพติด ของผู้รับจ้างซ่อมแซมบ้านเล็กน้อยรับจ้างตัดต้นไม้ ซ่อมไฟฟ้าประปา ฯลฯ ให้ขึ้นมาบนดินเสีย GDP ในปีนั้นก็จะขยายตัวครั้งใหญ่
ถึงตรงนี้ก็เห็นภาพแล้วว่า GDP มิได้สะท้อนภาพการผลิตและการสร้างรายได้ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ของทั้งประเทศ มันยังมีภาคเศรษฐกิจใต้ดินที่มิได้รวมอยู่ใน GDP
ถ้าภาคนี้ใหญ่โตมาก ธุรกิจอาจคึกคักได้ถึงแม้ GDP จะขยายตัวต่ำก็ตาม เคยมีการคำนวณว่าภาคนี้ในบ้านเราอาจมีขนาดใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของ GDP ด้วยซ้ำ
การคำนวณหา GDP ต้องอาศัยการประเมินแบบมีวิชาการพิงหลังแทบทั้งสิ้น มันคล้ายกับการวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อหาความจริงที่ต้องใช้หลายหลักฐานไม่ว่าเอกสารของคนไทยหรือต่างชาติ ลักษณะศิลปะ สิ่งที่ขุดค้นพบ หลักฐานธรณีวิทยา ฯลฯ
เนื่องจากไม่มีคำตอบเป็นเลขตัวเดียวเหมือนอายุหรืออุณหภูมิที่จริงแท้แน่นอนสามารถเอาไปเปรียบเทียบได้จึงไม่มีทางรู้ว่าประเมิน GDPได้ถูกต้องหรือไม่
ในการคำนวณหา GDP ก็ใช้ตัวเลขมูลค่าการส่งออก นำเข้า เงินตราต่างประเทศเข้าออก การใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งมีหลักฐานครบถ้วนพอควร แต่ในภาคประชาชนและเอกชนแล้ว ต้องอาศัยการประเมินและการคาดเดาแบบมีเหตุมีผลเป็นอันมาก โดยอาศัยสมมติฐานในบางเรื่องประกอบ
ตัวอย่างง่าย ๆ รถเข็นขายอาหารที่มีมากมายในบ้านเรานั้นมีส่วนร่วมใน GDP กี่ล้านบาท ไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แท้จริง มีแต่ตัวเลขที่คิดว่าใกล้เคียงความจริงโดยใช้ประมาณการผ่านสมมุติฐาน (ร้านหนึ่งขายได้วันละเท่าใด) ซึ่งก็ไม่มีใครรู้อย่างแน่นอนอีกแหละว่าถูกต้องหรือไม่
ศาสตร์และศิลป์ในการคำนวณหา GDP นั้นพัฒนาไปไกลผ่านการใช้สถิติและคณิตศาสตร์ขั้นสูง แต่ประเด็นสำคัญก็คือไม่มีใครรู้ตัวเลข GDP จริง ๆ ของแต่ละปี
ซึ่งต่างไปจากการรู้ว่าเรามีอุณหภูมิของร่างกายและความดันโลหิตเป็นเท่าใด เพราะไม่สามารถบอกได้ คล้ายกับการไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ในประวัติศาสตร์โบราณแบบเป๊ะ ๆ
ทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่าคนที่คำนวณตัวเลข GDP ของแต่ละประเทศนั้นบกพร่องคิด เลขผิด หากต้องการจะบอกว่าธรรมชาติของการคำนวณ GDP มันเป็นเช่นนี้ ดังนั้น จึงไม่มีใครบอกได้ 100% ว่าตัวเลขจริงของ GDP นั้นเป็นเท่าใดของแต่ละปี
ที่ปวดหัวไปกว่านี้ก็คือ GDP ที่เราพูดกันทุกวันนั้น เป็นมูลค่า Real GDP มิใช่ money GDP กล่าวคือมีการปรับ money GDP ให้เป็น Real GDP โดยใช้เทคนิคทางสถิติเพื่อให้ราคาที่แปรเปลี่ยนในแต่ละปีนั้นถูกกำราบให้อยู่นิ่งไม่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้น จึงรู้ได้ว่า GDP ซึ่งได้กลายเป็น real GDP แล้วนั้น มีมูลค่าการผลิตที่แท้จริงเพิ่มขึ้น หรือลดลงมากน้อยเพียงใด ไม่ถูกหลอกโดยการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง
ในบางประเทศมีการเล่นกล ปรับเปลี่ยนวิธีการทางสถิติในปีที่ตนครองอำนาจ เพื่อปรับให้ตัวเลข real GDP พุ่งสูงขึ้นจนได้อัตราการเจริญเติบโตที่น่าพอใจ
ในทางวิชาการ มูลค่าการผลิตสินค้าหรือบริการชนิดหนึ่งจะเท่ากับรายได้รวมที่เกิดขึ้นทั้งหมดในกระบวนการผลิตนั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่าเราวัด GDP ได้ทั้งด้านรายได้และมูลค่าการผลิต เมื่อวัดด้านรายได้ยาก จึงหันมาวัดกันทางด้านการผลิตหรือมูลค่าดังกล่าวแล้ว
และเมื่อไม่สามารถมีข้อมูลการผลิตอย่างละเอียดได้จึงต้องอาศัยการประเมินเป็นอันมาก ตัวเลข GDP จึงอาจมีค่าเปลี่ยนไปได้ด้วยสมมติฐานที่ ต่างไป นี่คือธรรมชาติของการคำนวณหา GDP ที่นักเศรษฐศาสตร์ที่บูชาการเจริญเติบโตของ GDP เป็นสรณะมักลืมไป
ป่วยการจะเถียงกันจริง ๆ จัง ๆ ว่าการเจริญเติบโต 2.5% หรือ 3% หรือ 4% เพราะจริง ๆ แล้วไม่มีใครตอบได้ว่าตัวเลข GDP นั้นมีความแม่นยำโดยสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงเพียงใด ทั้งหมดล้วนอยู่บนความเชื่อว่าได้คำนวณมาถูกต้องแล้ว
เมื่อ GDP มีความ “เลื่อนลอย”ในลักษณะนี้ และต้องใช้การประเมินบนสมมติฐานเป็นอันมาก ดังนั้น จึงยากที่จะเอาไปใช้อ้างโดด ๆ ในเรื่องการมีวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศครับ.