'คลัง' ยืนยัน GDP ปี 66 โตแค่ 1.8% แรงฉุดผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบ
สศค.ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 66 อยู่ที่ 1.8% ชี้ปัจจัยหลักจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง 14 เดือน ชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ยังไม่วิกฤติ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.8% ในช่วงคาดการณ์ที่ 1.6-2.0% ชะลอลงจากปี 2566 ที่ขยายตัว 2.6% โดยเป็นการปรับลดลงจากประมาณการณ์ล่าสุดของ สศค.เดือน ต.ค.2566 ที่ระบุว่าจะขยายตัวได้ 2.7%
จากข้อมูลอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2566 รายไตรมาส พบว่า ไตรมาส 1 ขยายตัว 2.6% ไตรมาส 2 ขยายตัว 1.8% ไตรมาส 3 ขยายตัว 1.5% ดังนั้นหากเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 2.7% ตามประมาณการณ์ก่อนหน้าในไตรมาสที่ 4 จะต้องขยายตัว 4-5%
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจส่งสัญญาณไม่ค่อยดีโดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เมื่อเดือนพ.ย.2566 หดตัว 4.7% ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 14 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศที่หดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวติดต่อกันเดือนที่ 23 คอมพิวเตอร์ หดตัวติดต่อกันเดือนที่ 15 ยางและพลาสติก หดตัวติดต่อกันเดือนที่ 9
นอกจากนี้ ดัชนีคาดการณ์ผลลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนธ.ค.2566 หดตัว 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัว 0.5% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า
“ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจข้างต้นเป็นตัวเลขที่ สศค.นำมาใช้ประกอบการพิจารณาในครั้งนี้ โดยนำข้อมูลมาสอบยันกันทุกทาง รวมทั้งเปรียบเทียบกับหน่วยงานเอกชนที่จัดทำประมาณการเศรษฐกิจก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน”
นายพรชัย กล่าวถึงประเด็นคำถามที่ว่าการขยายตัวเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า 2.0% เข้าข่ายวิกฤติหรือไม่ ว่า คำว่า “วิกฤติ” ทางเศรษฐกิจไม่มีการนิยามที่ชัดเจน ทั้งนี้มีสัญญาณตัวชี้วัดที่ติดลบและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลงต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ยังไม่ถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค หรือเศรษฐกิจติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส อย่างที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ที่มีการออกพระราชกำหนด (พรก.) ประกาศโรคระบาดใหญ่ รวมถึงในสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งที่มีหน่วยงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามาช่วยเหลือ
“คำว่าวิกฤติต้องเชื่อมโยงกับเวลา เช่น GDP ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส หรือเหตุการณ์ เช่น ปัญหาทางการเงินของครัวเรือน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติทางการเงินภาคครัวเรือนก็ได้ โดยต้องรับฟังข้อมูลต่างๆ ประกอบการพิจาณณา”
สำหรับกรณีข้อมูลกระทรวงการคลังรั่วไหลก่อนการแถลงข่าว นายพรชัย กล่าวว่า ได้รายงานข้อเท็จจริงด้วยวาจาให้ปลัดกระทรวงการคลังรับทราบแล้ว และได้จัดทำเอกสารรายงานตามระเบียบราชการ ทั้งนี้ตนรับว่าตกใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพราะว่าเป็นตัวเลขที่อยู่ระหว่างการพูดคุยกัน
“ทั้งนี้ยืนยันว่าตัวเลขประมาณการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจที่ 1.8% เป็นการจัดทำข้อมูลด้วยความรอบคอบและมีการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) และสภาพัฒน์เองก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน”