'WHA' ชี้โอกาสไทยรับอานิสงค์ย้ายฐานลงทุน หลังภูมิรัฐศาสตร์โลกป่วน
WHA มองความขัดแย้งจีน – สหรัฐฯ หนุนย้ายฐานการผลิตเข้าไทย ชี้ตัวเลขการซื้อพื้นที่นิคมเพื่อลงทุนขยายตัวทำนิวไฮต์ หนุนแลนด์บริดจ์สร้างความได้เปรียบเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอซเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ : รัฐปรับตัว ธุรกิจปรับแผน พลิกวิกฤติสู่โอกาส ในงานสัมนา "GEOPOLITICS 2024" จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" วันนี้ (31 ม.ค.) ว่าในปี 2567 นี้จะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ โดยมีการจับตาไปที่การเลือกตั้งสหรัฐฯที่จะมีขึ้นและมีการคาดการณ์ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกครั้ง
ซึ่งอาจส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯมีมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วสถานการณ์ ความตรึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯนั้นไม่ได้หมดไปแม้แต่ในช่วงโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความตรึงเครียดระหว่างมหาอำนาจสองประเทศนี้ไม่ได้ลดลง
ทั้งนี้แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทยเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา 1 – 2 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจีนนั้นย้ายฐานเข้ามาเร็วมากมีการเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นจำนวนมากซึ่งมีทั้งนักลงทุนจากจีน และไต้หวันซึ่งที่เข้ามานอกจากรถไฟฟ้า (EV) ยังมีอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ ที่เป็นซัพพลายเชนที่จะเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง WHA นั้นสามารถทำรายได้สูงสุดต่อเนื่อง 2 ปี และมั่นใจว่าในปีนี้ก็จะมีรายได้สูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
“การย้ายฐานการลงทุน และการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยเป็นแทรนด์ที่ชัดเจนมากและจะยังต่อเนื่องไปอีกหลายปี อุตสาหกรรมที่เข้ามามากนอกจาก EV ยังมีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการย้ายการลงทุนมายังไทยสะท้อนถึงความต้องการลงทุนและสร้างซัพพลายเชนในพื้นที่ Safe Zone ที่มีความปลอดภัย และเป็นกลางซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยด้วย”
แนะรัฐบาลฉายภาพลงทุน SEC
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้นมองว่าโครงการนี้เป็นโครงการสำคัญที่ควรจะเกิดขึ้นเพื่อทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งขนาดใหญ่ที่ช่วยให้เป็นข้อได้เปรียบเพิ่มขึ้น ซึ่งแลนด์บริดจ์นั้นไม่ควรมองเป็นแค่โครงการด้านโลจิสติกส์ แต่เป็นการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเหมือนกับพื้นที่อีอีซี
โดยมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อใช้เป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือ และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาพที่เกี่ยวโยงกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor :SEC) ที่รัฐบาลต้องชี้ให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ในส่วนนี้ด้วย
โดยโครงการแลนด์บริดจ์นั้นมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วยเนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งที่เชื่อมกับเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (BRI) ของจีน ซึ่งช่วยแบ่งเบาความแออัดของช่องแคบมะละกา และเป็นเส้นทางที่จีนให้ความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้วย
“ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจได้รวดเร็วคือประเทศที่มีท่าเรือเป็นทางออกทางทะเล เหมือนกับสิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งมีท่าเป็นทางออกทะเลจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นกับการวางตำแหน่ง หากสิงคโปร์คิดว่าจะเก็บเกาะไว้เป็นธรรมชาติที่สวยงาม ก็จะเป็นบาหลี หรือฮาวาย แต่เขาคิดว่าจะทำให้ประเทศเป็นเกาะที่มีควาสำคัญทางเศรษฐกิจจึงสร้างท่าเรือและมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วประเทศไทยก็ต้องมองเห็นโอกาสในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน”