ยสท. ค้านโครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว ชี้คุมบุหรี่เถื่อนไม่ได้

ยสท. ค้านโครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว ชี้คุมบุหรี่เถื่อนไม่ได้

ผู้ว่าการ ยสท. ชี้โครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว คุมบุหรี่เถื่อนไม่ได้ พร้อมแจงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยาสูบไทย

นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีบุหรี่ใหม่ โดยอาจใช้โครงสร้างภาษีอัตราเดียวตามที่ส่วนใหญ่ใช้กัน คือเก็บภาษีตามปริมาณอย่างเดียว 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยสท. ได้มีการศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีบุหรี่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่ามีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อมุ่งหวังแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ลดปริมาณการบริโภค และเพิ่มรายได้ให้แก่ภาครัฐ 

ทั้งนี้ นโยบายด้านภาษีไม่ควรคำนึงถึงอัตราสัดส่วนในการจัดเก็บภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาให้รอบด้านในกรอบของ 3 มิติ คือ มิติทางด้านสุขภาพ มิติทางด้านเศรษฐกิจ และมิติทางสังคม ผู้มีผลกระทบ 

 

จากการศึกษาข้อมูลการเก็บภาษีบุหรี่ของประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พบว่า ต่างก็ใช้โครงสร้างภาษีอัตราเดียว (เก็บภาษีตามปริมาณ) ซึ่งยังคงแก้ไขปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายไม่ได้ ในขณะที่ประเทศเวียดนาม และเมียนมาร์ จัดให้สินค้ายาสูบเป็นสินค้าพิเศษและมีการผูกขาดโดยรัฐ หรือมีมาตรการทางภาษีที่ช่วยปกป้องอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ 

นายภูมิจิตต์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษีบุหรี่นั้น ยสท. มองว่าการใช้โครงสร้างภาษีอัตราเดียว หรือ Single Tier อาจมีความเหมาะสมและใช้ได้กับในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่ไม่เหมาะสมกับประเทศที่มีปัญหาเรื่องบุหรี่ผิดกฎหมาย เพราะไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมายได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม 

เนื่องจากบุหรี่ผิดกฎหมายไม่ได้เสียภาษีเข้ารัฐ จึงมีราคาถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมาย 2-3 เท่าตัว เมื่อบุหรี่แพงขึ้นจนเกินกำลังซื้อของประชาชน ก็จะยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้คนหันมาสูบบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ ประเทศไทยเองกำลังเผชิญกับปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายอย่างหนักหน่วง ผลพวงจากการปรับโครงสร้างภาษีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุหรี่ต่างประเทศนำเข้า ใช้กลยุทธ์ปรับลดราคาขายปลีกซึ่งสวนทางกับภาษี ผู้บริโภคจึงหันไปสูบยาเส้นและบุหรี่ต่างประเทศนำเข้ามากขึ้น 

ดังนั้นหากมีการปรับโครงสร้างภาษีเป็นอัตราเดียว จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อตลาดบุหรี่ถูกกฎหมาย และผู้ประกอบการ ตลอดจนรายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐ และการลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนก็อาจทำได้ไม่สำเร็จ เพราะประชาชนหันไปบริโภคยาเส้นและบุหรี่ผิดกฎหมายมากขึ้น 

“ยสท. จึงมีความเห็นว่าการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ของประเทศไทย ควรพิจารณาถึงปัจจัยหลัก ได้แก่ ลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบที่เกิดกับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในประเทศ สามารถแก้ปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายได้เห็นผลเป็นรูปธรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งรัฐเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากภาคส่วนนี้โดยตรง”

 

นายภูมิจิตต์ กล่าวถึงการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ในช่วงที่ผ่านมาว่า ส่งผลกระทบกับ ยสท. ทั้งโดยตรงและในภาพรวมอีกหลายด้าน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณการจำหน่ายบุหรี่ของ ยสท. ที่ลดลง ทำให้ ยสท. จำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตลงด้วยการตัดโควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรลดลง 50% ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรซึ่งประกอบด้วยชาวไร่และผู้เกี่ยวข้องกว่า 500,000 ราย ทำให้รัฐและ ยสท. ต้องเพิ่มเงินสนับสนุนให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการลดโควตาการปลูกใบยาสูบ ประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท  

ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตทำให้ปริมาณการสูบบุหรี่ถูกกฎหมายในประเทศไทยหดตัวลดลงเป็นอย่างมาก โดยในปี 2566 ภาษีทั้งหมดที่เก็บได้จากการขายบุหรี่อยู่ที่ 70,000 ล้านบาท แต่เป็นรายได้ที่ถูกบุหรี่หนีภาษีลิดรอนไปแล้วถึง 25% หรือคิดเป็นมูลค่าภาษีที่หายไปกว่า 23,000 ล้านบาท 

ที่ผ่านมา การลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่ปลอม เครื่องหมายการค้าของ ยสท. และบุหรี่หนีภาษี ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัวเข้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีปริมาณการสูบบุหรี่เถื่อนมากกว่า 70% ของการสูบบุหรี่ทั้งหมดในพื้นที่ภาคใต้ 

จากข้อมูลการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมายในปี 2566 พบว่าแนวโน้มบุหรี่ที่มิได้เสียภาษีมีสัดส่วนสูงถึง 22.3% เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2565 ที่มีสัดส่วนเพียง 15.5% นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจุบันมีบุหรี่ที่มิได้เสียภาษีแพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็วเกือบ 2 เท่าตัว ภายในระยะเวลา 6 เดือน 

ทั้งนี้นับตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ปีงบประมาณ 2561 จนถึงปีงบประมาณ 2566 ผลการปราบปรามพบคดีบุหรี่ผิดกฎหมายรวมทั้งสิ้น 50,963 คดี รวมของกลางทั้งสิ้น 33,490,246 ซอง