เบื้องหลังเฟด(ยัง)ไม่ปรับดอกเบี้ย | บัณฑิต นิจถาวร

เบื้องหลังเฟด(ยัง)ไม่ปรับดอกเบี้ย | บัณฑิต นิจถาวร

วันพฤหัสฯ ที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.25-5.50 เน้นว่าอัตราเงินเฟ้อยังสูง แนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน และยํ้าพันธกิจที่จะนําอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้า 2%

แต่ลึกๆ เหตุผลที่คงอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นเพราะข้อมูลเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนไปมากพอที่เฟดจะตัดสินใจเรื่องปรับอัตราดอกเบี้ยไม่ว่าขึ้นหรือลง แต่ได้ส่งสัญญาณชัดว่าอัตราดอกเบี้ยจากนี้ไปจะเป็นขาลง

และการปรับลงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเฟดมีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องสู่เป้า คําถามคือเฟดรออะไรอยู่ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ใครที่ตามเรื่องอัตราดอกเบี้ยเฟดและเศรษฐกิจสหรัฐ คงจําได้ว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐเดือนที่แล้ว เฟดให้สัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเริ่มปรับลงได้ปีนี้ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินที่ค่อนข้างเร็ว

เหตุก็เพราะเฟดห่วงผลของอัตราดอกเบี้ยสูงที่จะมีต่อเศรษฐกิจสหรัฐจากนี้ไป ที่อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงและอัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ส่งสัญญาณปูทางการลดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ เพื่อบริหารความเสี่ยงและให้ตลาดการเงินรับรู้เพื่อการปรับตัว

ล่าสุดข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมกราคมไม่มีอะไรเปลี่ยนอย่างมีนัยสําคัญเทียบกับเดือนก่อนหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจยังเข้มแข็ง ขณะที่ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานเริ่มผ่อนคลาย และอัตราเงินเฟ้อลดลง ทุกอย่างดูมีความสมดุล

เบื้องหลังเฟด(ยัง)ไม่ปรับดอกเบี้ย | บัณฑิต นิจถาวร

ปีที่แล้วเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสสี่ขยายตัวร้อยละ 3.3 และทั้งปีขยายตัวรัอยละ 3.1 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนเอกชนจะชะลอจากผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ล่าสุดการจ้างงานดูเข้มแข็ง ประมาณ 165,000 ตําแหน่งงานใหม่ต่อเดือน อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ขณะที่ความต้องการแรงงานหรืออุปสงค์ยังสูงกว่าอุปทาน ทําให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราที่ลดลง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อโน้มลงต่อเนื่อง ทั้งปีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 2.6 ปีที่แล้วและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและนํ้ามัน อยู่ที่ร้อยละ 2.9 สูงกว่าเป้าระยะยาวของเฟดที่ร้อยละ 2

ข้อมูลล่าสุดจึงชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งการขยายตัว ภาวะตลาดแรงงาน และ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีจุดหักเหในข้อมูลที่ทำให้นโยบายการเงินจะต้องเปลี่ยน คือต้องปรับอัตราดอกเบี้ยไม่ว่าลงหรือขึ้น ซึ่งก็นํามาสู่การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาทิตย์ที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การปรับลงอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ตลาดการเงินโลกรออยู่ เพราะจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับเศรษฐกิจโลก ทั้งในแง่ต้นทุนทางการเงิน แรงกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ และราคาสินทรัพย์

เบื้องหลังเฟด(ยัง)ไม่ปรับดอกเบี้ย | บัณฑิต นิจถาวร

ดังนั้น เพื่อให้ตลาดการเงินมีหลักในการพิจารณาความน่าจะเป็นของอัตราดอกเบี้ยจากนี้ไป รวมถึงเข้าใจการตัดสินใจของเฟด

เฟดจึงให้สัญญาณเพิ่มเติมในการประชุมอาทิตย์ที่แล้วทั้งในเอกสารแถลงข่าวและในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวช่วงแถลงข่าวเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถคาดหวังได้เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากนี้ไป สรุปได้ดังนี้

หนึ่ง อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะถึงจุดสูงสุดแลัวสําหรับการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจออกมาอย่างที่คาด (หมายถึงการขยายตัว การจ้างงาน และเงินเฟ้อ) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงใดช่วงหนึ่งของปีนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าจะเหมาะสม

สอง แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยถ้าทำเร็วเกินไปก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับมา แต่ถ้าช้าเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยจึงต้องทําเมื่อมีความมั่นใจ

สาม ในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย เฟดจะดูข้อมูลเป็นหลัก และจะไม่ปรับลงอัตราดอกเบี้ยจนกว่าเฟดจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องสู่เป้า

นี่คือสัญญาณที่ชัดเจนว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยต่อไปของเฟดจะเป็นขาลง คือลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเฟดมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะลงต่อเนื่องสู่เป้าร้อยละ 2

คำถามคือ เฟดรออะไรอยู่ อะไรคือข้อมูลที่จะทําให้เฟดมีความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลงต่อเนื่องสู่เป้า

ช่วงการแถลงข่าว ประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวล ก็ถูกถามคำถามนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า คุณอยากเห็นอะไรที่จะทําให้คุณมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งประธานเฟดตอบว่า ความมั่นใจมีแต่ความมั่นใจจะมากขึ้นถ้าตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีต่อเนื่อง และยกตัวอย่างตัวเลขเงินเฟ้อที่ดีตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา

เบื้องหลังเฟด(ยัง)ไม่ปรับดอกเบี้ย | บัณฑิต นิจถาวร

ดังนั้น การรอข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจคงจะเกิดขึ้น ทําให้การลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดจะใช้เวลาและอาจไม่เกิดขึ้นจนหลังเดือนมีนาคม

สิ่งนี้ทําให้ตลาดการเงินเริ่มคาดว่าเงื่อนเวลาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ช่วงไตรมาสสองปีนี้ และขนาดการปรับลดครั้งแรกอาจมากกว่าปรกติได้ถ้าอัตราเงินเฟ้อลงเร็วและหรือภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอ่อนกว่าที่คาด

นี่คือข้อสรุปขณะนี้ซึ่งเราคงต้องตามดู โดยส่วนตัวผมคิดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เฟดรอและยังกังวลเรื่องเงินเฟ้อแต่ไม่ได้พูดถึงคือ ความแตกแยกทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภูมิศาสตร์การเมือง ที่กระทบความเป็นโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจโลก ที่ทําให้เงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกจะไม่ตํ่าอย่างที่เราเคยเห็นอีกต่อไป

ซึ่งจะทําให้การปรับลงของอัตราเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมายของเฟดที่ร้อยละ 2 จะเป็นสิ่งที่ยาก คืออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอาจยืนระยะอยู่ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 2 ไม่ปรับลงสู่เป้า

นอกจากนี้ภูมิศาสตร์การเมืองจากนี้ไปอาจสร้างดิสรัปชั่นต่อการผลิตในเศรษฐกิจโลกจนเงินเฟ้อกลับมาเป็นปัญหาอีก

ผมว่านี่คือสองเรื่องทำให้เฟดกังวล ไม่ปรับดอกเบี้ยลงทันที แม้ในใจอาจอยากจะปรับดอกเบี้ยลงเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอ

เบื้องหลังเฟด(ยัง)ไม่ปรับดอกเบี้ย | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]