สองเรื่อง "เศรษฐกิจโลก" ที่ต้องตามต่อปีหน้า | บัณฑิต นิจถาวร
บทความวันนี้เป็นบทความสุดท้ายของปี วันเวลาผ่านไปเร็วมาก เผลอแป๊บเดียวก็ผ่านไปอีกปี ปีนี้เศรษฐกิจโลกมีหลายเรื่องที่น่าชื่นชมแต่หลายเรื่องก็น่าผิดหวัง
หลายเรื่องเริ่มต้นปีนี้แต่ยังไม่จบและจะมีผลอย่างสําคัญต่อเศรษฐกิจโลกปี 2567 วันนี้จึงจะเขียนถึงสองเรื่องในประเด็นนี้ เป็นสองเรื่องที่ควรติดตามสำหรับเศรษฐกิจโลกปีหน้า
ประเด็นแรกคือ เงินเฟ้อ เงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังวางใจไม่ได้ การส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐในการประชุมเดือนนี้ว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับลงได้ปีหน้า ให้ความรู้สึกว่าปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐอาจจบแล้ว คือเงินเฟ้อจะลดต่อเนื่องปีหน้า ซึ่งอาจจริง
แต่สิ่งหนึ่งที่ออกมาชัดจากเศรษฐกิจโลกปีนี้คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจและการลดลงของเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ นั้นต่างกันมาก
เช่นระหว่างสหรัฐที่เศรษฐกิจขยายตัวดีเงินเฟ้อลดลง กับประเทศในยุโรปที่การขยายตัวตํ่าและเงินเฟ้อยังสูง หรือจีนที่การขยายตัวมีปัญหาและเงินเฟ้อตํ่า คล้ายกับไทย
ความแตกต่างนี้สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจและนโยบายแก้ปัญหาของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งความแตกต่างนี้คงมีต่อในปีหน้า ทําให้ทิศทางเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกในประเทศต่างๆจะไม่เหมือนกัน ไม่ไปตามกันหรือ Synchronize
ในความเห็นผม ปัจจัยหลักที่จะทําให้ทิศทางเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่างๆ แตกต่างกันปีหน้าคือ ความแตกแยกทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือภูมิศาสตร์การเมือง
ทําให้ปัจจัยที่เคยสนับสนุนความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลก และสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ตํ่ามาตลอด เช่น เสถียรภาพทางการเมือง หายไปหรือหมดอิทธิพลลง
เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะทําให้อัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกจากนี้ไปไม่ตํ่า หรืออยู่ในเกณฑ์ต่ำเหมือนเดิม แต่จะสูงขึ้น คืออัตราเฉลี่ยสูงขึ้น นี่คือภาพระยะยาวของเงินเฟ้อ
ส่วนระยะสั้น ดิสรัปชั่นต่อการผลิตและการค้า ที่มาจากสถานการณ์สู้รบและมาตรการกีดกันการค้า ที่โยงกับความขัดแย้งทางการเมือง ก็จะทําให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าหลักๆ เช่น อาหาร พลังงาน และวัตถุดิบ แพงต่อเนื่องและปรับลงยาก อัตราเงินเฟ้อจึงจะลดลงยาก
ภาวะการณ์เช่นนี้ทำให้แรงกดดันให้เงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกปรับสูงขึ้นหรือลดลงยากจะมีต่อไป ล่าสุดไอเอ็มเอฟคาดว่าอัตราเงินเฟ้อโลกปีหน้าจะอยู่ประมาณร้อยละ 6 คือยังสูง
ดังนั้น สถานการณ์เดียวที่จะทําให้อัตราเงินเฟ้อโลกปรับลดลงได้มากปีหน้าคือ เศรษฐกิจโลกชะลอลงมาก คือ ความอ่อนแอของการใช้จ่ายมีมากทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง นี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้น
และถ้ารุนแรงก็เป็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจจากธนาคารกลางสหรัฐ
แต่ปีหน้าการปรับเปลี่ยนทิศทางดอกเบี้ยจะไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทําอย่างระมัดระวัง เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลงได้ต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่ได้เปลี่ยนไป
ความท้าทายคือ ถ้าลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป แรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพื่มสูงขึ้นก็จะกลับมา แต่ถ้าช้าไป เศรษฐกิจก็จะชะลอมาก ความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยก็จะมีมากขึ้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องติดตาม
เรื่องที่สองที่ต้องติดตาม คือ ภูมิศาสตร์การเมือง ที่ได้สร้างความแตกแยกทางเศรษฐกิจ คือ แบ่งหรือแยกเศรษฐกิจโลกออกเป็นสองขั้ว คือขั้วสหรัฐกับประเทศยุโรปตะวันตก และขั้วจีนรัสเซียกับกลุ่มประเทศในเครือ
ประเทศในแต่ละขั้วค้าขายระหว่างกันมากขึ้น และกีดกันการค้าขายและการลงทุนข้ามขั้ว โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นปัจจัยยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งหมดกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลก การค้า การลงทุน นวัตกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลก
จากที่ความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกหายไป ทําให้ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จากผลของสงครามและความแตกแยกที่เกิดขึ้น
และปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นตอของปัญหาคือความขัดแย้งและการแข่งชิงอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมหาอำนาจคือ สหรัฐกับจีน
ภูมิศาสตร์การเมืองกับความแตกแยกทางเศรษฐกิจจะเป็นผลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ความแตกแยกทางเศรษฐกิจ กระทบต้นทุนการผลิต ราคานํ้ามัน ความเป็นอยู่ของคน สร้างความลําบากทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
ความยากลําบากนี้ก็จะเร่งให้ความขัดแย้งทางการเมืองหรือปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองรุนแรงขึ้น ทําให้ความแตกแยกทางเศรษฐกิจยิ่งมีมากขึ้น นี่คือวงจรที่ทําให้ความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อเกิดขึ้นมักรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ปีที่แล้ว ความแตกแยกทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตํ่ากว่าคาดคือขยายตัวร้อยละ 3 ตํ่ากว่าปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 แสดงชัดเจนถึงผลที่ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจสามารถมีต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลก การทําธุรกิจ และความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก
ล่าสุด ผลสํารวจของสำนัก อ๊อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิค ที่สํารวจความเห็นนักธุรกิจกว่า 130 ประเภทธุรกิจทั่วโลกชี้ว่า ร้อยละ 62 ของนักธุรกิจเห็นว่า ภูมิศาสตร์การเมืองจะเป็นความเสี่ยงสําคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า แสดงถึงความห่วงใยที่ภาคธุรกิจมีต่อสถานการณ์ภูมิศาสตร์การเมืองในโลกขณะนี้
แต่ภูมิศาสตร์การเมืองเป็นได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาสต่อเศรษฐกิจโลก คือเป็นความเสี่ยงถ้าสถานการณ์ภูมิศาสตร์การเมืองไม่ดีหรือแย่ลง และเป็นโอกาสถ้าปัญหาต่างๆ สามารถหาทางออกหรือคลี่คลายได้ นํามาสู่ความมีเสถียรภาพของการเมืองโลก
ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักการเมืองในฐานะผู้นำประเทศว่าจะสร้างหรือ shape สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกต่อไปอย่างไร
ประเด็นนี้ทําให้ปีหน้าจะเป็นปีสำคัญของภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจโลก เพราะปีหน้าจะเป็นปีเลือกตั้งผู้นำประเทศอย่างน้อยเจ็ดประเทศ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของอำนาจการเมืองโลก
ที่ผลที่ออกมาจะสามารถเพิ่มหรือลดความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมืองที่โลกมีขณะนี้ได้ เจ็ดประเทศนี้คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ไต้หวัน อัฟริกาใต้ รัสเซีย อินเดีย และ อินโดนีเซีย
ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเหล่านี้ รวมกันแล้วมีพลังที่จะสามารถเปลี่ยนเส้นทางเดินของเศรษฐกิจโลกในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้าได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องติดตาม
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล