สรท.จับตาวิกฤตทะเลแดงยืดเยื้อกระทบส่งออกไทยไตรมาสแรก

สรท.จับตาวิกฤตทะเลแดงยืดเยื้อกระทบส่งออกไทยไตรมาสแรก

สรท. กังวลปัจจัยเสี่ยง”ปัญหาทะเล  เงินบาทผันผวน ดอกเบี้ย  ดัชนีPMI “กระทบส่งออก   คาด ส่งออกเดือน ม.ค.-ก.พ.น่าจะได้ตามเป้า ขณะที่เดือนมี.ค.ของประเมินอีกครั้งหลังเทศกาลตรุษจีน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกในปี 2566 ติดลบ 1 %  มูลค่า 284,550  ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน  โดยสินค้าที่เป็นพระเอกคือ สินค้าเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ส่วนการส่งออกในปี 67 สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยขยายตัว 1-2 % มูลค่า 282,396  -290,241 ล้านดอลลาร์ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์วิกฤตทะเลแดงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีต่อเนื่องมายังปัจจุบัน ส่งผลให้ต้นทุนขนส่งปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากทะเลแดงเชื่อมต่อกับคลองสุเอซ เป็นเส้นทางการค้าหลักระหว่างเอเชียกับยุโรป และยังครอบคลุมเส้นทางการค้าทางทะเลประมาณ 12% ของโลก ซึ่งเส้นทางนี้ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป แอฟริกา อเมริกาเหนือ คิดเป็นสัดส่วนกว่า  10 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทย  

ส่วนการส่งออกในเดือนม.ค.นี้สรท.คาดว่า น่าจะอยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนม.ค.ปี66  เช่นเดียวกับเดือนก.พ.ที่น่าจะอยู่ระหว่าง 21,000 -22,200 ล้านดอลลาร์ เพราะตลาดอื่นๆที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทะเลแดงยังส่งออกไปได้ดี โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง

แต่ในเดือนมี.ค.ประเมินยากและถือเป็นเดือนที่ท้าทายมากๆ  คงต้องประเมินอีกครั้ง เนื่องจากฐานเดือนมี.ค.ปี 66 สูงมากถึง28,000 ล้านดอลลาร์  จากการที่ส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนไปจีน แต่ปีนี้เกิดปัญหาภัยแล้งอาจทำให้ผลไม้ออกล่าช้าไป  และสถานการณ์ทะเลแดงจะยืดเยื้อยาวนานถึงเดือนมี.ค.หรือไม่ หากยังไม่ยุติจะมีผลต่อตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.และในไตรมาแรกปีนี้ รวมทั้งต้องดูดัชนีภาคการผลิตของจีนหลังเทศกาลตรุษจีนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากสัญญาณดีก็จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย

สรท.จับตาวิกฤตทะเลแดงยืดเยื้อกระทบส่งออกไทยไตรมาสแรก

“สถานการณ์ทะเลแดงยืดเยื้อมีผลต่อต้นทุนสินค้า ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น4-5 เท่า ค่าธรรมเนียน (เซอร์ชาร์จ)  ทำให้ผู้ส่งออกต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันการส่งออกในเดือน มี.ค.และหากยาวนานก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น การส่งมอบสินค้า  ซึ่งปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญของการส่งอกไทยในไตรมาสแรก ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”นายชัยชาญ กล่าว

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เห็นว่าควรเร่งหาตลาดใหม่เพื่อทดแทน โดยหันกลับมามองภูมิภาคที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ อินเดีย และ กลุ่มไชน่าพลัส เพื่อทดแทนประเทศคู่ค้าเดิมที่มีปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความร่วมมือที่เหนียวแน่นระหว่างภาครัฐและเอกชนจะพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นเหมือนปีที่ผ่านมาได้

สำหรับปัจจัยเฝ้าระวังที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งอกไทย  ได้แก่ 1.การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย โดยค่าเงินบาทเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ และยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

2.อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศยังคงทรงตัวระดับสูง ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงดอกเบี้ยนโยบายต่อ คาดว่าจะมีการปรับในช่วงเดือนพ.ค. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ทะเลแดงอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันซึ่งจะส่งผลให้สินค้าอุปโภคและบริโภคปรับสูงขึ้น นำไปสู่เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น

3.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตในทะเลแดง (Red sea) บริเวณช่องแคบบับ อัล-มันเดบ (Bab el-Mandeb Strait) ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักไปทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นและใช้ระยะเวลาการขนส่งสินค้านานขึ้น รวมถึงความขัดแย้งอื่น ๆ อาทิ รัสเซีย ยูเครน ทะเลจีนใต้ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

4.ดัชนีภาคการผลิต (PMI) สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ณ ระดับ 50.3, 46.6, และ 48 ตามลำดับ มีแนวโน้มภาคการผลิตดีขึ้น แต่ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด หลายประเทศยังขยายตัวต่ำกว่าระดับ Base Line โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปยังคงต่ำกว่าระดับ Base Line ต่อเนื่องกว่า 8 เดือน และ 5.ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าระวางเรือเส้นทางยุโรปตะวันออกกลาง สหรัฐฯ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะสำคัญ ประกอบด้วย 1.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน รวมถึงกำกับดูแลเพื่อลดช่องว่าง (Spread) อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเงินกู้และเงินฝาก

2.เร่งสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและกระบวนการผลิตเพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นในปีนี้

3.เร่งรัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดเป้าหมายที่สำคัญ รวมถึงเร่งการเจรจาการค้าเสรี (FTA) อาทิ ไทย-EFTA และไทย-GCC เพื่อสร้างแต้มต่อและลดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดและแหล่งวัตถุดิบให้ผู้ประกอบการไทย

4.สถานการณ์ปัญหาการโจมตีเรือพาณิชย์ในพื้นที่ทะเลแดง ผู้ประกอบการส่งออกร้องขอให้มีการเรียกเก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง ทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และขอให้สายเรือเจรจากับท่าเรือเพื่อขอขยายระยะเวลา Free Time ในท่าเรือ เป็น 21 วัน (จากปกติ  3-7 วัน) เพื่อลดต้นทุนส่วนที่เกินเวลาที่กำหนดและขยายระยะเวลาการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อลดต้นทุน Demurrage/ Detention ให้กับผู้ส่งสินค้าเป็นต้น

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 284,561.8 ล้านดอลลาร์หดตัว 1.0% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-ธันวาคม หดตัว 0.6% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 289,754.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 3.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในปี 2566 ขาดดุลเท่ากับ 5,192.5 ล้านดอลลาร์