นักวิชาการชี้”จดลิขสิทธิ์”ไม่แก้ปัญหาจีนส่งออกกางเกงช้าง
นักวิชาการชี้รัฐบาล”จดลิขสิทธิ์”กางเกงช้างไม่แก้ปัญหาจีนส่งออกสินค้าดังกล่าว แนะรัฐบาลหาซอฟพาวเวอร์พรีเมียมทดแทน พร้อมแก้ข้อตกลงเอฟทีเอ หลังสินค้าจีนทะลัก”เกษตร-เอสเอ็มอี”ตายเรียบ ทำไทยขาดดุลการค้าจีนพุ่ง 1.4 ล้านล้าน
key points
- จดลิขสิทธิ์ไม่แก้ปัญหาจีนส่งออกกางเกงช้าง
- แนะรัฐบาลหาซอฟพาวเวอร์พรีเมียม
- เอฟทีเอทำสินค้าจีนทะลัก”เกษตร-เอสเอ็มอี”ตายเรียบ
- ไทยขาดดุลการค้าจีนพุ่ง 1.4 ล้านล้าน
- สินค้าไทยขาดดุลถึง 1 พันรายการ จากยอดส่งออก 1.2 พันรายการ
กรณีที่รัฐบาลเร่งจดลิขสิทธิ์กางเกงช้าง เพื่อนำมาเป็นสินค้าซอฟพาวเวอร์ในไทย กำลังกลายเป็นประเด็นดรามาในโลกโซเชียลว่า ผู้ประกอบการไทยไม่ได้ประโยชน์จากการโปรโมทสินค้าดังกล่าว เนื่องจาก จำนวนสินค้าดังกล่าวราว 70% ถูกผลิตและนำเข้ามาจากประเทศจีน
โดยผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศเห็นว่า สินค้าจีน ซึ่งรวมถึง กางเกงช้าง ที่ทะลักเข้าไทยเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขผ่านการแก้ไขสัญญาเอฟทีเอ เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ และลดปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีน ชี้”จดลิขสิทธิ์”ไม่แก้ปัญหาจีนส่งออกกางเกงช้าง
รองศาสตราจารย์ อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าวในรายการ Deep Talk กรุงเทพธุรกิจ ในประเด็นที่รัฐบาลไทยได้จดลิขสิทธิ์การผลิตสินค้ากางเกงช้าง เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศที่ถูกผู้ผลิตสินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาดในประเทศ โดยระบุว่า กรณีที่จีนผลิตกางเกงช้างเข้ามาขายในไทยนั้น เป็นเพียงหนึ่งในรายการสินค้าของจีนที่เข้ามาค้าขายในประเทศเท่านั้น ซึ่งตนมองว่า ปัญหาสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาในประเทศ ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาอย่างต่อเนื่องและมากที่สุดในอาเซียน เป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนที่รัฐบาลควรดำเนินการมากกว่าการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลมีแผนจะดำเนินการ
ทั้งนี้ ไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดดุลการค้ากับจีนจำนวนมาก โดยมียอดการขาดดุลการค้าสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากก่อนหน้านี้ที่ขาดดุลการค้าเพียง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราว 1.4 ล้านล้านบาท ถือว่า เป็นการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนเงินที่ขาดดุลมากกว่ามูลค่าโครงการลงทุนแลนด์บริดจ์อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ตนมองว่า สินค้าที่ทะลักเข้ามาจะทำให้เกษตรกรไทยและเอสเอ็มอีล้มหาย กระทบโครงสร้างการผลิตของไทย ขณะเดียวกัน การที่ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจีนที่มากถึง 16% เมื่อเศรษฐกิจจีนมีปัญหา เศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น เราต้องกระจายความเสี่ยงการค้าขายไปในหลายประเทศ
“ถ้าปล่อยแบบนี้ เอสเอ็มอีไทยเจ๊งหมด เกษตรกรไทยตายเรียบ เพราะตัวเลขขาดดุลการค้ากับจีน ประเทศไทยน่าห่วงที่สุด เมื่อมาดู ดุลการค้าไทยที่ค้ากับจีน เทียบประเทศอื่น พบว่า ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดในอาเซียน และไม่มีผงกหัวขึ้นเลย ทิ่ม คือ ขาดดุลไปเรื่อย เมื่อก่อน ขาด 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบัน 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.4 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องเร่งด่วน ประเทศอาเซียนก็ขาดดุล แต่เราขาดดุลมากกว่า ที่น่าฉุกคิด คือ อินโดนีเซียเริ่มขาดดุลการค้าลดลงกับจีน ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาปรับทิศทาง นี่คือ อันตรายมาก เทียบประเทศไทยน้ำท่วมประเทศไทย แต่เราไม่เอากระสอบทราย หรือทำนบไปกั้นเลย และปัญหานี้ คือ ไฟไหม้แล้ว ต้องเอาน้ำมาดับก่อน”
ทั้งนี้ สินค้าไทยที่ค้าขายกับจีนมีจำนวน 1,200 รายการ แต่ไทยขาดดุลการค้าไปแล้วถึง 1,000 รายการ มีแค่ 200 รายการเท่านั้น ที่ได้ดุลการค้า อาทิ ยางพารา สินค้าเกษตร และผลไม้ ส่แต่ส่วนที่ขาดดุลมาก คือ เครื่องจักร และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
แนะรัฐบาลหาสินค้าพรีเมียมซอฟพาวเวอร์
เขากล่าวว่า ทุกวันนี้ สินค้าของไทยที่ผลิตขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่จีนจะสามารถผลิตทดแทนและส่งออกมาในไทยได้หมด ซึ่งจีนก็ทำมานานแล้ว ไม่ว่า จะเป็นการผลิตมะม่วงเบาในภาคใต้ การทำมะม่วงแช่อิ่ม การทำหมอนยางพารา หรือ เครื่องสำอาง และในอนาคตจะมีสินค้าจากจีนที่เข้ามาไทยมากขึ้น กรณีกางเกงช้างที่รัฐบาลมองเป็นหนึ่งในซอฟพาวเวอร์ของไทยนั้น ตนเห็นว่า ขณะนี้ ไม่ว่าสินค้าอะไร รัฐบาลก็จะดึงมาเป็นซอฟพาวเวอร์ไปหมด จึงอยากเสนอว่า รัฐบาลควรคิดหรือดึงสินค้าที่พรีเมียมมากกว่านี้มาเป็นซอฟพาวเวอร์
“ดัชนีซอฟพาวเวอร์อินเด็กสำหรับประเทศไทยนั้น ไม่ได้สูง แพ้สิงคโปร์และมาเลเซียด้วยซ้ำ มาเลเซีย เขาไม่ได้ดูเฉพาะสินค้าที่คนใช้เยอะ ผมว่า คนไทยกำลังหลงทางคิดผิด ใช้ซอฟพาวเวอร์ฟุ่มเฟือย กางเกงช้างเป็นอีกหนึ่งเคสเท่านั้น ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์ที่เราจดนั้น ทางจีนเขาหลบได้ เขาก็จดเหมือนกัน แต่เป็นอีกแบบ ฉะนั้น ก็ไม่โดน หลายเรื่อง ที่จดในไทย แต่จีนก็จดลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป ไม่น่าโดน จีนฉลาดในการค้าขาย ฉะนั้น เรื่องจดลิขสิทธิ์ ไม่น่าได้ผล”
รองศาสตราจารย์อัทธ์กล่าวว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องกลับมาคิดเรื่องการปกป้องสินค้าหรือผู้ผลิตในประเทศ โดยยกตัวอย่างกรณีการปกป้องผู้ผลิตในประเทศของอินโดนีเซียว่า อินโดนีเซียได้ทำสองเรื่องใหญ่ คือ การปกป้องเกษตรกร โดยเขามีกฎหมายการค้า หรืออาหาร มาปกป้องเกษตรกร แต่ไทยไม่น่ามี หมายความว่า การจะนำเข้าสินค้ามาขายในอินโดนีเซีย จะต้องไม่ตรงกับฤดูกาลสินค้าเกษตรที่ออกมา แต่บ้านเราเข้ามาได้ตลอด
นอกจากนี้ กรณีการซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศนั้น ทางอินโดนีเซียยังห้ามนำเข้าสินค้าออนไลน์ราคาต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ แต่ของเรานั้น สินค้าที่นำเข้ามาราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่เสียภาษี และกำหนดมูลค่าสินค้าที่ห้ามขายออนไลน์ในทุกแพลทฟอร์ม ส่วนราคาที่สูงกว่ากำหนด ก็จะโดนมาตรการภาษี ฉะนั้น รายย่อยในอินโดนีเซียจึงมีโอกาสขายได้ นี่คือ การปกป้องสินค้าเกษตรของอินโดนีเซีย ขณะเดียวกัน ยังห้ามนำเข้าสินค้าในบริเวณท่าเรือที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตสินค้าของผู้ผลิตในประเทศอีกด้วย
“เราต้องมาดูตัวเองว่า เราปล่อยสินค้าต่างชาติเข้ามามากมายเกินไป โดยเฉพาะจีนที่มีคลังสินค้าครองในประเทศไทย และยังส่งออกผัก เก่งมาก ซึ่งเราก็ไม่รู้ผักที่กินปลอดสารพิษหรือเปล่า ฉะนั้น เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก”
จี้รัฐบาลทบทวนเอฟทีเอการค้ากับจีน
เขาระบุว่า วันนี้ สิ่งที่ไทยต้องทำ คือ ต้องทบทวนการค้าหรือเอฟทีเอกับจีน เพราะดูตัวเลขขาดดุลการค้านั้น เราแย่สุดในอาเซียน ถ้าไม่ทำอะไร ในอนาคตขาดดุลจะขาดดุลเพิ่ม 5-6 หมื่นเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำกับคุณภาพสินค้า ต้องร่วมมือกันให้เข้มข้น เพื่อไม่ให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาโดยง่าย ยกตัวอย่าง กระเทียมจีนที่ส่งเข้ามาขายตีตลาดกระเทียมไทย
“เราจะกล้างัดกับเขาหรือเปล่า เพราะเราจะอยู่แบบนี้ไม่ได้ อินโดนีเซียเอง เขาก็พึ่งจีนเยอะ แต่ทำไมเขาทำได้ เราไม่กล้าหรือเปล่า หน่วยงานราชการรัฐและเอกชนต้องช่วยตรวจสอบคุณภาพสินค้าจีนที่เข้ามา ลดการนำเข้า เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรไทยสามารถปลูกทดแทนสินค้าที่นำเข้ามา เช่น นำเข้ามา 80% เหลือ 20% ให้เอสเอ็มอีไทยได้ปลูก แต่ตอนนี้ เปิดมา 100% ไม่มีของเราเลย”
เขายกตัวอย่างว่า กรณีของอินเดียนั้น ไม่ยอมลงนามการค้าเสรีกับจีน เพราะเขากังวลว่า สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาและทำให้เกษตรกรและเอสเอ็มอีของเขาตายหมด ขณะที่ ไทยได้ทำสัญญาเอฟทีเอกับศรีลังกา ซึ่งศรีลังกาเองก็กำลังทำเอฟทีเอกับจีน นักลงทุนเบอร์หนึ่งของศรีลังกาคือจีน ฉะนั้น จีนเกี่ยวข้องกับหลากหลายประเด็นมาก
กรณีสินค้ารถยนต์อีวีจีนที่เข้ามามาขายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ บูมมาก ซึ่งตนคิดว่า ซัพพลายเออร์ไทยไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะอุตสาหกรรมเราปรับตัวไม่ทัน เพราะเราไม่มีเทคโนโลยี ทำให้ซัพพลายเออร์ไทยว่างงาน เพราะเวลาจีนมาลงทุนนั้น จะนำเข้ามาทั้งหมด ดังนั้น เราต้องกำหนดเงื่อนไขเรื่องการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศได้ประโยชน์ด้วย เพื่อให้การพัฒนาของสองประเทศไปด้วยกัน