5 เหตุผลควรลดอัตรา ‘ดอกเบี้ย’ ถึงเวลา ‘นโยบายการเงิน’ ช่วยพยุงเศรษฐกิจ
เปิด 5 เหตุผล ลุ้น กนง.นัดหน้าลดดอกเบี้ยช่วยเศรษฐกิจ หลังคงที่ 2.5% แบบไม่เป็นเอกฉันท์ ชี้รัฐบาลไม่สามารถออกมาตรการทางการคลังได้ เอกชนชี้ต้นทุนการเงินสูง ดอกเบี้ยนโยายยังเพียงพอรับวิกฤติ กำลังซื้อคนเริ่มขยายตัวต่ำลงจากเดิม
Key points :
- กนง.มีมติ คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%
- ในช่วง 1 - 2 เดือนที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี และหลายคนในรัฐบาลส่งสัญญาณขอให้มีการลดดอกเบี้ย
- ภาคเอกชนพูดถึงความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ต้นทุนการเงินสูง
- ที่ปรึกษานายกฯระบุหากไม่สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ควรลดดอกเบี้ยเงินกู้ก่อน
ในช่วงปลายเดือน ม.ค. ถึงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 ก.พ.2567 เป็นช่วงที่คนในฝากฝั่งรัฐบาลออกแรงเยอะเป็นพิเศษในการส่งสัญญาณไปยัง “แบงก์ชาติ” ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบัน 2.5%
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ขอ "แบงก์ชาติ" อย่างไม่อ้อมค้อมว่าอยากให้ กนง.ลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% โดยกล่าวย้ำว่าขณะนี้ “เงินเฟ้อ” ไม่ใช่ปัญหา และหากลดดอกเบี้ยลงสัก 0.25% ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ก็ถือว่าเป็น “พื้นที่” ที่เพียงพอที่จะรองรับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ขณะที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าห่วงวิกฤติที่จะเกิดขึ้น กับเศรษฐกิจ พร้อมบอกว่ารัฐบาลได้ใช้มาตรการการคลังเกือบทุกเรื่องแล้ว ทุกกระทรวงได้ดำเนินการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้มันคือปัญหามาตรการทางการเงิน และถามไปยัง “แบงก์ชาติ” อย่างตรงไปตรงมาว่า ผู้ที่ดูแลมาตรการทางการเงิน ได้ดำเนินการอะไรบ้าง จะลดดอกเบี้ยได้บ้างหรือไหม
“ตอนนี้ภาระหน้าที่อยู่ที่แบงก์กับผู้รับผิดชอบดูแลมาตรการทางการเงิน ต้องดูทั้งสองเรื่องเป็นขาที่ประกอบกันถึงจะแก้ปัญหาได้” ภูมิธรรมระบุ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีความพยายาม จากทางฝั่งรัฐบาลให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงแต่ล่าสุดที่ประชุม กนง.เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ก็มีมติ 5:2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.5%
การตัดสินใจของ กนง.แบบไม่เป็นเอกฉันท์ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะแม่ว่ากรรมการ กนง. 5 คนที่เป็นเสียงข้างมากจะเห็นว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสดียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว แต่ก็มีกรรมการ กนง. 2 คนที่มองว่าถึงเวลาที่ต้องลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
ทั้งนี้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากจากปัจจัยวัฎจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดย กนง. จะพิจารณาดำเนินนโยบายทางการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อต่อไป
5 ประเด็นลุ้นลดดอกเบี้ยครั้งหน้า
สำหรับมุมมองในฝั่งที่มองว่าประเทศไทยควรมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยภาคเศรษฐกิจของประเทศมีเหตุผลสนับสนุนที่รวบรวมได้ 5 ประเด็น ดังนี้
1.ตัวเลขเงินเฟ้อติดลบ เหตุผลนี้เป็นมุมมองของนายกรัฐมนตรีที่อธิบายว่า ประเด็นเงินเฟ้อที่ติดลบอยู่ และอยู่ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อที่รัฐบาล และ ธปท.หารือไว้ที่ 1 – 3% ดังนั้นหากปรับลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 2.25% ก็ยังมีพื้นที่อีกมาถ้าเกิดมีวิกฤติหรืออะไรเกิดขึ้นก็ยังสามารถลดดอกเบี้ยลงเพื่อบรรเทาวิกฤติลงได้อีกมาก
2.พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่แล้วเสร็จ และล่าช้าไปกว่าปกติหลายเดือน รัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้มาตรการทางการคลังได้ หากมีมาตรการทางภาคการเงิน โดยลดดอกเบี้ยก็จะช่วยภาคเศรษฐกิจได้บางส่วน
3.ช่องว่างดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทย กับ สหรัฐฯ ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 2.5% กับ 5.25 - 5.5% ถ้าหากอ้างอิงดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ย - เงินเฟ้อ) ก็จะเห็นว่า ทั้งไทยและสหรัฐฯจะอยู่ในระดับราว 3% ใกล้กัน ฉะนั้นไม่ได้แตกต่างกันมาก ทำให้มีช่องว่างที่จะสามารถลดดอกเบี้ยลงไปได้ในการประชุมรอบต่อไป ซึ่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางคนได้ชี้ให้เห็นประเด็นนี้แล้ว
4.การบริโภคแม้จะขยายตัวได้ แต่มีสัญญาณชะลอตัวลง เห็นได้จากข้อมูลการบริโภคภาคเอกชนในเดือน ธ.ค.ปีก่อนที่ขยายตัวได้ 5.9% ลดลงจากระดับ 2 เดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ที่ระดับ 7.3% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคชะลอตัว สืบเนื่องมาจากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง ประชาชนมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยสูง
สอดคล้องกับข้อมูลของสภาหอการค้าฯ ที่ระบุว่าตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน แม้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรับลดเชิงเทคนิคตามนโยบายการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ แต่บ่งชี้ให้เห็นถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ
5.ต้นทุนเงินกู้ของภาคเอกชนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูง โดยเฉพาะต้นทุนการกู้ยืมเงินของเอสเอ็มอี แม้ว่า ธปท.จะพยายามใช้มาตรการแก้หนี้แบบเฉพาะเจาะจง แต่ต้องยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาในช่วงปีที่ผ่านมา และยังคงที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน
ทำให้ผู้ประกอบการเอกชนมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยที่สูงเป็นความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจ ซึ่งในประเด็นนี้ทำให้การคงดอกเบี้ยของ กนง.ในครั้งที่ผ่านมาทำให้ภาคเอกชนแสดงความผิดหวังต่อมติการคงดอกเบี้ยที่ไม่ได้ช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนลดลง
"พิชัย" แนะลดดอกเบี้ยเงินกู้
ในประเด็นนี้หากยังไม่สามารถที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายได้ก็ต้องหาทางลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยอาจใช้วิธีตามที่ “พิชัย นริพทะพันธุ์” ที่ ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีต รมช.คลัง บอกว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยซบเซา เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมากถึง 7-8% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเตี้ยแค่ 0.25 – 1.5% แม้จะไม่สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้เนื่องจากดอกเบี้ยสหรัฐฯยังสูงมาก โดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ธปท.ทำได้ผ่าน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่มี ผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธานได้เลย ซึ่งก็จะลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของประชาชนลงได้
คงต้องจับตาการประชุม กนง.ครั้งต่อไปในวันพุธที่ 10 เม.ย.2567 ว่า กนง.จะตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน โดยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่