“หัวใจ” และ “ปอด” ของเศรษฐกิจต้องทำงานสัมพันธ์กัน | พงศ์นคร โภชากรณ์
เมื่อพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ ส่วนมากก็ต้องนึกถึงนโยบายการเงิน (Monetary Policy) และนโยบายการคลัง (Fiscal Policy) ทั้ง 2 นโยบายนี้ นิสิตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ทุกคนต้องเคยเรียน ส่วนใหญ่จะแยกกันคนละวิชา
บางมหาวิทยาลัยแยกเป็นคนละสาขาไปเลย เพราะเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะมาก ทั้งทฤษฎี สมการคณิตศาสตร์ สถิติ เศรษฐมิติ สมมติฐานต่าง ๆ จำลองออกมาเป็นเส้นกราฟที่ต้องเข้าใจและวาดให้ถูกต้องครบถ้วน ถึงจะสอบผ่าน
ปวดหัวใช่ไหมครับ ผมจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ โดยสมมติว่าระบบเศรษฐกิจ คือ ร่างกายของเรา
ขอพูดถึงนโยบายการคลังก่อน เพราะใกล้ตัวมากกว่า จุดประสงค์ของนโยบายการคลัง คือ การอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ แล้ววนกลับมาในรูปของรายได้จากภาษีและรัฐพาณิชย์ต่าง ๆ คล้าย ๆ กับ “หัวใจที่คอยสูบฉีดเลือดผ่านเส้นเลือดไปเลี้ยงแขนขา อวัยวะ และเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย”
ร่างกายก็คือระบบเศรษฐกิจ เส้นเลือดใหญ่ก็คือรัฐบาลส่วนกลาง เส้นเลือดแขนงก็คือส่วนภูมิภาค และเส้นเลือดฝอยก็คือท้องถิ่น แขนขา อวัยวะ และเซลล์ต่าง ๆ ก็คือธุรกิจ ห้างร้าน ครัวเรือน และประชาชน ส่วนเลือดก็คือเม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเม็ดเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการโครงการต่าง ๆ ที่ไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกาย
นโยบายการคลังจะมีเครื่องมือสำคัญ 2 อย่าง คือ การใช้จ่ายภาครัฐและอัตราภาษี การใช้จ่ายภาครัฐเปรียบเสมือนกล้ามเนื้อหัวใจทั้ง 4 ห้อง ซึ่งก็คือหน่วยรับงบประมาณ ทำหน้าที่บีบอัดเลือดเข้าสู่เส้นเลือดเพื่อไปเลี้ยงร่างกาย
หากต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวก็ต้องเพิ่มรายจ่าย หรือเพิ่มแรงบีบของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายให้มากขึ้น เพื่อให้เลือดวิ่งออกไปถึงเส้นเลือดฝอยอย่างทั่วถึง หรือเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจลงไปนั่นเอง
เช่น ตอนโควิด-19 เฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำปีคงไม่พอประคับประคองเศรษฐกิจ รัฐบาลโดยหน่วยงานที่ทำมาตรการโครงการต่าง ๆ ก็อัดฉีดเงินที่กู้ฉุกเฉินมา 1.5 ล้านล้านบาท ลงไปให้ทั่วถึงและรวดเร็วเพื่อให้เศรษฐกิจรอดจากวิกฤต
ในทางตรงกันข้าม หากต้องการให้เศรษฐกิจชะลอความร้อนแรงก็ไม่ต้องเร่งเบิกจ่ายมากนักหรือไม่จำเป็นต้องเพิ่มแรงบีบของกล้ามเนื้อหัวใจ ในขณะที่อัตราภาษีเปรียบเสมือนลิ้นหัวใจ คอยควบคุมอัตราการสูบฉีดเลือด
ถ้าต้องการเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ก็ต้องลดอัตราภาษี คล้าย ๆ กับการเปิดหรือคลายลิ้นหัวใจกว้างหน่อย เพื่อให้ปริมาณเลือดหรือเม็ดเงินเข้ามาในห้องหัวใจบนซ้ายวิ่งลงไปห้องล่างซ้าย แล้วก็สูบฉีดออกไปเต็มที่ ถ้าต้องการลดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ก็ต้องเพิ่มอัตราภาษี คล้ายๆ กับการเปิดลิ้นหัวใจแคบ ๆ ควบคุมแบบเข้มงวดมากขึ้น
ที่สำคัญการทำงานของการใช้จ่าย (กล้ามเนื้อหัวใจ) และอัตราภาษี (ลิ้นหัวใจ) ต้องสัมพันธ์กัน อัดฉีดมากไป เร็วไป จะเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน แต่บางครั้งรัฐบาลอาจจะขึ้นอัตราภาษีบางตัวเพื่อให้ได้รายได้กลับเข้ามามากขึ้น เอาไปใช้จ่ายได้มากขึ้น
ส่วนนโยบายการเงิน มีจุดประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ คล้าย ๆ กับ “ปอดที่ทำหน้าที่ฟอกเลือดเสียให้กลายเป็นเลือดดี โดยการสูดเอาออกซิเจนจากภายนอกเข้ามาผสมในเลือด แล้วปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นของเสียออกจากร่างกาย”
โดยในปอดทั้ง 2 ข้าง จะมีถุงลม 600 ล้านถุง ซึ่งเปรียบเสมือนสถาบันการเงินในระบบเศรษฐกิจ น่าจะมีเกือบ ๆ 1 หมื่นสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำหน้าที่รับฝากเงิน ถอนเงิน เอาเงินฝากมาปล่อยสินเชื่อ ให้กู้ยืม ผู้กู้ก็ต้องผ่อนหนี้กับสถาบันการเงินตามอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด เหมือนการหายใจเข้าเอาออกซิเจนเข้ามา หายใจออกเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป
ซึ่งปอดจะมี 2 ข้าง ข้างขวาจะใหญ่กว่า คือสถาบันการเงินเอกชน ข้างซ้ายจะเล็กกว่าเพราะมีหัวใจเข้ามาแทรก คือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น ที่เป็นเครื่องมือนโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-Fiscal Policy) ของรัฐบาลนั่นเอง
เครื่องมือของนโยบายการเงินก็มีเยอะ แต่หลัก ๆ คือ อัตราดอกเบี้ยและสินเชื่อ โดยอัตราดอกเบี้ยคืออัตราการหายใจเข้าออก ถ้าร่างกายต้องการใช้พลังงานมากก็ต้องหายใจเร็วขึ้น เสมือนการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้ผู้บริโภค ผู้ลงทุน สามารถกู้ได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้น รอบการหมุนถี่มากขึ้น
แต่ถ้าไม่ต้องการใช้พลังงาน ไม่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็หายใจยาว ๆ ช้า ๆ ยุบหนอพองหนอไป รักษาระดับการหายใจเอาไว้ อย่างนี้ก็ไม่ต้องไปแตะต้องอัตราดอกเบี้ย
ส่วนสินเชื่อ เงินกู้ยืม ผมเปรียบเสมือนถุงลม เพราะในระบบเศรษฐกิจคนทำหน้าที่นี้คือ สถาบันการเงินเอกชนและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งอยู่หน้างานทำหน้าที่ฝาก ถอน ปล่อยสินเชื่อ ให้กู้ยืม คิดภาระหนี้ คล้าย ๆ กับการทำหน้าที่ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์
ถ้าอัตราดอกเบี้ย (อัตราการหายใจ) และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของสถาบันการเงิน (ถุงลม) เชื่อมโยงกัน อัตราการหายใจที่สอดคล้องกับความต้องการอ็อกซิเจนของร่างกายถุงลมทุกถุงทำหน้าที่ได้เต็มที่ จะทำให้หายใจได้ลึก เต็มปอด ไม่หอบ ไม่เหนื่อยง่าย
ลองสมมติว่า ถ้าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวในสถานการณ์ปกติ รัฐบาลก็ต้องอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน สร้างงาน ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น นำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว รัฐบาลก็สามารถจัดเก็บภาษีเข้ามาเป็นรายได้แผ่นดินได้อีก
ในขณะเดียวกัน ผู้ดูแลนโยบายการเงินก็สนับสนุนด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยลงเล็กน้อย เพื่อยั้งไม่ให้คนเอาเงินที่ได้มาจากการทำมาหากินหรือรัฐบาลสนับสนุนเข้าไปฝากออมทรัพย์ไว้ที่ธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ย หรือเพิ่มเสริมแรงให้เกิดการลงทุน เพราะต้นทุนการกู้ยืมในการสร้างบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถลดลง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
แต่ ! ปัจจุบันเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เพราะงบประมาณล่าช้า เศรษฐกิจชะลอตัว เราจึงต้องอาศัยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งแรงกดดันจากเงินเฟ้อสูงไม่มีมานานแล้ว เพราะเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 มติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเสียง 5 ใน 7 ยังคงเห็นว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจมากกว่า และเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาว
แต่อีก 2 เสียง เห็นว่าควรลดลงร้อยละ 0.25 ต่อปี ผมจึงเกิดคำถามว่า ต้องรอให้เกิดฉากทัศน์แบบใดหรือจังหวะเวลาใดที่จะนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครับ?
ในฐานะคนนอกสนาม ผมเห็นภาพที่ไม่ค่อยสอดคล้องกันระหว่างนโยบายการคลัง (หัวใจ) และนโยบายการเงิน (ปอด) ผมอยากให้หัวใจและปอดทำงานเข้าขากัน เข้าอกเข้าใจกัน และสอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อมั่นและมั่นใจ
และสุดท้าย ผมอยากให้ในห้องเรียนสอนเรื่อง “จังหวะเวลาและความเกื้อกูลกันของนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน” เข้าไปด้วยครับ
*บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด