‘เศรษฐา‘ ยันเดินหน้าเจรจากัมพูชา ใช้ประโยชน์ ‘ขุมทรัพย์พลังงาน’ 20 ล้านล้าน
“เศรษฐา” ยันเดินหน้าเจรจาไทย – กัมพูชา ดึง “ขุมทรัพย์ทางทะเล” 20 ล้านล้าน ใช้ประโยชน์โดยเร็วหลังหารือผู้นำกัมพูชาแล้ว เผยไทยไม่ปิดทางศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เตรียมหารือฝรั่งเศส – EU - จีน ศึกษาข้อมูลล่วงหน้า
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” ในการเสวนา Thailand Energy Executive Forum จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ว่าในทุกวันนี้เรื่องของพลังงานถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ทุกภาคส่วนตั้งแต่ บริษัทต่างชาติที่ผมไปชักชวนให้มาลงทุน ตลอดจนภาคส่วนเกษตรกร ต้องการพลังงานสะอาดที่ราคาถูกทั้งสิ้น ประเทศไทยเราจึงต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักคือ
1. แหล่งพลังงาน รัฐบาลต้องเร่งเจรจาพัฒนาแหล่งพลังงานในอ่าวเพิ่ม
2. ความพร้อม ซึ่งเรามีศักยภาพที่ได้เปรียบกว่าเพราะมีพื้นที่สำหรับการผลิต (Clean and Green Energy) แต่ต้องมีการอัพเกรดระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อเสริมความพร้อมระยะยาวด้วย
และ 3.ราคาพลังงาน ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ จะช่วยประชาชนและภาคเอกชนไปพร้อมกันผ่านกลไกตลาดที่ถูกต้อง
ไทย-กัมพูชา เห็นพ้องเริ่มเจรจาพื้นที่ทับซ้อน
ในส่วนของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) ระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและได้มีการหารือกับสมเด็จฯฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาแล้ว และมีความเห็นที่ตรงกันว่าต้องเร่งพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งในส่วนนี้แม้ว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในเรื่องของเขตแดนก็ถึงเวลาที่ทั้งสองประเทศจะพูดคุยกันโดยเร็วเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลายคนสนใจและบอกว่าเป็นขุมทรัพย์ใต้ทะเล เป็นขุมทรัพย์ทางพลังงานซึ่งในวันนี้บางท่านบอกว่ามีมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ handle with care คือมีเรื่องของราคาพลังงานและเขตแดนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเราต้องทำให้ทันกับการใช้พลังงาน เพราะแม้จะมีความต้องการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ความจำเป็นในการใช้ก๊าซธรรมชาติของทั้งสองประเทศก็ยังมีอยู่ เรื่องนี้จึงต้องมีการเดินหน้าเจรจาโดยเร็ว” นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่าในเรื่องของพลังงานตอนนี้หลายประเทศก็ยังมีการพูดถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเป็นพลังงานที่ราคาถูก และสะอาดที่สุด
โดยประเทศไทยนั้นตอนนี้เราไม่มีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนี้แต่ว่าหลายประเทศนั้นมีเทคโนโลยีอยู่ทั้งสหภาพยุโรป (EU) ฝรั่งเศส และจีน ซึ่งตรงนี้เราก็สามารถที่จะเรียนรู้และเก็บข้อมูลไว้ก่อนเพื่อที่ในอนาคตหากที่จะต้องตัดสินใจก็จะสามารถที่จะตัดสินใจได้ถูกต้อง