ข่าวดี ไทย – บราซิล เลิกขัดแย้งในเวที WTO จ่อลงนามข้อพิพาทส่งออก ‘น้ำตาล’
ข่าวดี! ครม.เคาะเอกสาร ไทย - บราซิล ยุติข้อพิพาท อ้อย - น้ำตาล ขัด WTO หลังขัดแย้งตั้งแต่ปี 59 เหตุบราซิล ได้ข้อมูลแล้วไทยเลิกมาตรการหนุนส่งออก เลิกกำหนดโควตาน้ำตาล
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการยุติกรณีข้อพิพาทเรื่องน้ำตาล ภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ WTO ระหว่างประเทศไทย และบราซิล ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ
“ตอนนี้ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่ได้ยุติข้อพิพาทกับทางบราซิลแล้ว ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะมีการลงนามในข้อยุติข้อพิพาทร่วมกัน” นางณัฐฎ์จารี
ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีการเจรจาข้อพิพาทกับบราซิลมานานหลายปี พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างอ้อย และน้ำตาลทราย พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดมาตรการอุดหนุนที่จะขัดต่อ WTO ทำให้ทางบราซิลได้เห็นถึงความพยายามของไทย จึงได้ข้อยุติในเรื่องนี้เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอเอกสารการลงนามข้อยุติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลบราซิล ว่าด้วยเรื่องการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย โดยในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ในช่วงวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ จะมีการลงนามต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมา บราซิลได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทเรื่องการอุดหนุนน้ำตาล เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 โดยกล่าวว่า ประเทศไทยได้อุดหนุนระบบน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตลาดของบราซิล ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตลาดอันดับ 1 ของโลก
จากนั้นทั้งสองประเทศได้เจรจากันมานานตั้งแต่ปี 2559 - 2566 ดังนั้นไทยจึงปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เช่น การยกเลิกระบบโควตา ก ข ค ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 โดยไม่กำหนดโควตาส่งออก ถือเป็นการปรับปรุงระบบอ้อย และน้ำตาลทราย ที่เป็นไปตามกลไกตลาด
รวมทั้งยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ ด้วยการแก้ไขกฎหมายมาตรา 17 ภายใต้พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 พร้อมปรับแก้ไขการตัดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลออกจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เงินชดเชยกับโรงงานน้ำตาลในกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น จึงไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
รวมถึงการยกเลิกให้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 160 บาทต่อตัน ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2559 และปรับการอุดหนุนเป็นมาตรการเพื่อสนับสนุนการเกษตรและชนบทของไทย เช่น การศึกษา การวิจัย การปรับปรุงพันธุ์พืช และการลดการเผาอ้อยด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์