สหรัฐกล่อมไทยป้องการค้าแฝงอาวุธร้ายแลก “แผนลงทุนเซมิคอนดักเตอร์”
ภูมิธรรม ถกสหรัฐ ยืนมาตรการป้องกันสินค้าอาวุธร้ายแรงและสินค้าสองทางที่อาจเป็นอาวุธร้ายแรงได้ ชี้เป็นแนวทางเสริมเสน่ห์การลงทุนไทย หลังสหรัฐ แย้มเตรียมลงทุนอุตฯเซมิคอนดักเตอร์ในอาเซียน
การค้าและการลงทุน มีความเกี่ยวเนื่องกับ ความมั่นคง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ในโอกาสที่ นาย แฟรงค์ เอ. โรส Principal Deputy Administrator สำนักความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งชาติ กระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐ และ นาย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าพบ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เมื่อเร็วๆนี้ จึงมีประเด็นด้านความมั่นคงที่กำลังจะเชื่อมโยงไปสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมชี้ชะตาอนาคตทางเศรษฐกิจประเทศไทย
นายภูมิธรรม เปิดเผยหลังการหารือว่า ผู้แทนสหรัฐ ได้เสนอให้ไทยพิจารณายกระดับมาตรการทางการค้าเพื่อควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายWMD หรือ อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง(Weapon of Mass Destruction: WMD) และสินค้าDUI หรือ สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI)
โดยได้เน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินมาตรการฯ เพื่อความสงบสุขของประชาคมโลก พร้อมกล่าวว่าขณะนี้ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศได้มีมาตรการดังกล่าวแล้ว อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ สปป. ลาว กำลังจะประกาศใช้มาตรการเพื่อควบคุมสินค้าDUIในเร็วๆนี้
ทั้งนี้ ได้แสดงจุดยืนว่าไทยพร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าไทยถูกนำไปใช้ในทางที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายWMDตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 อย่างเต็มที่โดยเมื่อปี 2563 กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ 2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์ในการพิจารณากำหนดมาตรการเพื่อควบคุมสินค้าDUIรวมถึงมาตรการอนุญาต (Licensing)และมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ด้วยวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทั่วโลก กระทรวงพาณิชย์จึงได้ชะลอการใช้มาตรการLicensingออกไป แต่กระทรวงพาณิชย์ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำการค้าที่ปลอดภัย ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือการก่อการร้าย และมีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก
ดังนั้น ไทยจึงพร้อมร่วมมือกับนานาชาติในการดำเนินมาตรการควบคุมสินค้าDUIโดยอยู่บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคงปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน
“ผู้แทนกระทรวงพลังงานสหรัฐ แจ้งว่า สหรัฐ ยินดีให้การสนับสนุนกับไทยในทุกมิติ เพื่อให้ไทยสามารถดำเนินมาตรการควบคุมสินค้าDUIได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมาตรการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ขยายWMDแต่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกอีกด้วย”
จากการหารือเรื่องอาวุร้ายแรงนี้ ฝ่ายสหรัฐได้แจ้งกับไทยว่า ขณะนี้ปัจจุบันสหรัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายฐานการผลิตสินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์มายังภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการที่ไทยมีระบบควบคุมสินค้าDUIจะถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ทันสมัย เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการกำกับดูแลสินค้า เทคโนโลยี และเงินทุน อันจะนำมาซึ่งการลงทุนจากต่างชาติ การสร้างงาน สร้างรายได้ และการถ่ายทอดความรู้เชิงเทคนิคการผลิตซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดให้อุตสาหกรรมภายในประเทศได้ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า สถานการณ์สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี สหรัฐ-จีน ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสองฝ่ายมีความพยายามแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐ กับจีน(US-China Decoupling) เนื่องจากสหรัฐและจีนตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง ไม่ให้พึ่งพาการเป็นแหล่งผลิตหรือตลาดของอีกฝ่ายมากเกินไป
โดยสหรัฐทบทวนห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์แบตเตอรี่ความจุพลังงานสูง (รวมถึงแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า) แร่สำคัญยาและสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม ขณะที่จีน กำหนดให้วงจรรวมหรือเซมิคอนดักเตอร์ เป็น 1 ใน 7 อุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ฉบับที่ 14 ทำให้เกิดการลงทุนในประเทศที่3รวมถึงไทยด้วย