“ภูมิรัฐศาสตร์” ปมซัพพลายเชนโลกทิ้ง “จีน” แนะไทยเดินหน้า China+1
“ทุกๆปัญหาย่อมมีทางออก ทุกความเสี่ยงย่อมมีโอกาส” คำพูดนี้น่าจะใช้อธิบายสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี
ปัญหารุมเร้าที่ว่าคือ ความขัดแย้งด้าน ภูมิรัฐศาสตร์ ตั้งแต่ สหรัฐ-จีน ที่ทำสงครามการค้า ต่อเนื่องมาเป็นสงครามเทคโนโลยี และการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน(ซัพพลายเชน)ออกจากกัน หรือ UN -China Decoupling เพื่อลดการพึ่งพาซึ่งกันและกัน
จากนั้น ภูมิรัฐศาสตร์ยังแผลงฤทธิ์ด้วยสงครามที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ ทั้งใน รัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาส และต่อเนื่องไปสู่กลุ่มฮูดีที่โจมตีการขนส่งสินค้าในทะเลแดง เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นนี้จะไม่กระทบการค้าและเศรษฐกิจโลกคงเป็นไปไม่ได้แต่สถานการณ์นี้กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจโลกครั้งสำคัญ
บริษัทดูไบ พอร์ต เวิลด์ (DP World) ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าร่วมกับ Economist Impact จัดทำรายงาน
Trade in Transition research report เผยแพร่เมื่อกลางเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเปิดมุมมองในแง่ที่เป็นบวกต่อการทำธุริจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่กำลังมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและวางโครงสร้างใหม่ต่อซัพพลายเชนท่ามกลางภาวะที่ธุรกิจกำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
โดยรายงานระบุว่า ปี 2567 หลายธุรกิจวางแผนลงทุนเพิ่มด้านเทคโนโลยีและการกลับสู่การพึ่งพากันและการเข้าถึงความเท่าเทียมต่อความสามารถการเติบโตและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)
ทั้งนี้ พบว่า 39% ของผู้บริหารในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ตอบแบบสำรวจว่ากำลังใช้ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการทำให้ผลกระทบต่างๆต่อธุรกิจลดลง ซึ่งหนึ่งในสี่ของผลสำรวจชี้ว่าการยกระดับเทคโนโลยีจะเป็นขั้นปฐมแห่งการขับเคลื่อนการเติบโตสำหรับธุรกิจในปีนี้
สำหรับเอเชียแปซิฟิก ถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในโลกทั้งฝั่งการนำเข้าและส่งออก ขณะที่การค้าในกลุ่มเอเชียด้วยกันมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยหนึ่งในสามของผู้บริหารธุรกิจในภูมิภาคนี้ บอกว่าอาเซียนคือหนึ่งในตลาดส่งออกที่สำคัญ
"ภูมิภาคนี้ กำลังมีการเติบโตบนความเชื่อที่่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประสิทธิภาพและซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่น ซึ่งสามารถเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางการเมือง อัตราเงินเฟ้อที่สูง และอัตราดอกเบี้ย โดยเทคโนโลยีจะสยบความซบเซาทางเศรษฐกิจในตลาดสำคัญๆ อย่างไรก็ตาม หลายธุรกิจต่างยอมรับว่าได้ใช้นโยบายทางการค้าหรือการทำธุรกิจเฉพาะกับประเทศที่เป็นมิตรทางการเมืองเท่านั้นโดยเชื่อว่ากลยุทธ์ทางการค้าที่ว่าด้วย ซัพพลายเชนสองด้านจะจัดการและข้ามผ่านความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้
เกรน ฮิลตัน ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร DP World in Asia Pacific กล่าวว่า เอเชียแปซิฟิก มีการนำเข้าและส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้ 5%ในปี2567 นับเป็นอัตราเติบโตที่เร็วที่สุดในโลก
รายงานยังระบุว่า เมื่อถามถึงการประเมินอนาคตการค้าโลกต่างมองว่าความสามารถด้านเทคโนโลยีจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพซัพพลายเชน และการสร้างความยืดหยุ่นอย่างมีกลยุทธ์และทำให้อนาคตข้างหน้าสดใส
“99%ของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI มาเป็นตัวปฎิวัติอย่างน้อยที่สุดในด้านในด้านหนึ่งก่อน และต่อไปคือการจัดการในซัพพลายเชน รวมถึงการวางต้นทุนปฎิบัติการให้ไม่สูงจนเกินไป โดยในส่วนนี้มีผู้ตอบว่าใช้แนวทางดังกล่าวถึง 34% ขณะที่ 31% บอกว่ามีแผนจะปรับปรุงแหล่งการนำเข้าเพื่อลดโอกาสซัพพลายเชนหยุดชะงัก และ 29% บอกว่า หาแหล่งนำเข้าใหม่ ”
นอกจากนี้ สัดส่วนความเห็นถึง 39% กำลังให้ความสำคัญพิเศษในการเพิ่มงานด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มผลผลิต บริการ หรือแม้แต่ปฎิบัติการสู่ห่วงโซ่อุปทาน โดยผลสำรวจพบว่า 32% มองไปถึงการใช้ระบบอัตโนมัติและโรบอทเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพโลจิสติกส์
ส่วน 27% บอกว่า มีความตั้งใจที่จะเพิ่มระบบความเป็นจริงเสมือน virtual realityมาใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ และ 25% บอกว่า จะนำเทคโนโลยี บล็อกเชน มาขยายการตรวจสอบย้อนกลับ ความปลอดภัย และการปกป้องข้อมูล
รายงานยังเผยถึงความเห็นของผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิก ที่ต่างมองว่า เงินเฟ้อคือภัยคุกคาม ซึ่งมีสัดส่วนถึง 28% ที่ยังคงกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้และมองว่าปัญหานี้จะอยู่ต่อไปอีก มากกว่า 2 ปี และมากกว่านั้นอีก 26% แสดงความกลัวต่อเศรษฐกิจขาลงในตลาดหลัก
ด้าน“Economic Headwinds” หรือปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่จะเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผลวิจัยมองข้ามความตรึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ จะนำไปสู่การกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าไฮเทคโนโลยี ซึ่งจะฉุด GDPโลก ให้ลดลง 0.9%
ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้น รายงานแนะนำว่า การสร้างความหลากหลายด้านซัพพลายเชนผ่านกลยุทธ์ ‘China+1’ ซึ่งประเทศอย่างมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ต่างกำลังนำมาปรับใช้นั้นจะช่วยลดความเสี่ยงต่อวิกฤติซัพพลายเชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึง ปัจจัยเฝ้าระวังที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยได้แก่
- การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
- อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศยังคงทรงตัวระดับสูง
- ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
- ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ในหลายประเทศ ยังขยายตัวต่ำกว่าระดับ Base Line
ความท้าทายที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญในตอนนี้ อาจเป็นอีกบททดสอบใหม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้มแข็งแต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าการทดสอบบทต่อไปจะไม่รุนแรงมากไปกว่านี้ ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งจากภายในจึงเป็นคำตอบสำคัญสำหรับทุกบททดสอบ