‘โรงไฟฟ้าเสมือนจริง’ จีน - สหรัฐ แข่งปูพรมธุรกิจชาร์จอีวี ทำเงินให้ผู้ชาร์จ

‘โรงไฟฟ้าเสมือนจริง’ จีน - สหรัฐ แข่งปูพรมธุรกิจชาร์จอีวี ทำเงินให้ผู้ชาร์จ

จีน และสหรัฐ เป็นประเทศใช้รถยนต์อีวีมากอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งสองเร่งพัฒนาเทคโนโลยีชาร์จรถยนต์หลายล้านคัน สามารถจ่ายไฟกลับยังโครงข่าย จัดการปัญหาขาดแคลนพลังงาน แถมเงินให้ผู้ชาร์จ

นับเป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า “โรงไฟฟ้าเสมือนจริง” หรือวีพีพี (Virtual Power Plants) หลังมีรายงานวิกฤติคลื่นความร้อนที่มีผลต่อโครงข่ายไฟฟ้าของจีนในปี 2565 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รัฐบาลจีนต้องจำกัดการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉิน

โรงไฟฟ้าเสมือนจริงเป็นเทคโนโลยีที่ดำเนินการควบคู่กับอุตสาหกรรมอีวี นี่เป็นสาเหตุที่รัฐบาลจีนทุ่มลงทุนใน VPP หวังเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิวัติโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศ

โดยพื้นฐานแล้ว VPP เป็นแหล่งพลังงานที่สามารถสร้างสมดุลให้กับโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อส่งไปใช้กับเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ปั๊มความร้อน แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา และชุดแบตเตอรี่สำรองพลังงานใช้ภายในบ้าน 

จีนแพลน VPP แทนโรงงานถ่านหิน

จีนวางเป้าหมายให้ VPP แทนที่การทำงานของโรงงานถ่านหิน และโรงงานก๊าซธรรมชาติในอนาคต

ระบบ VPP ช่วยระบบสาธารณูปโภคจัดการกับเวลาที่ต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนให้ตรงตามความเหมาะสม เช่น เปลี่ยนเวลาชาร์จรถอีวี เป็นเวลา 02.00 น. เพื่อหลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วน

เมื่อพิจารณาถึงปัญหาโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ก็ไม่น่าแปลกใจที่จีน ในฐานะประเทศปฏิวัติมาใช้รถยนต์อีวี  กำลังเผชิญปัญหานี้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ

ข้อมูลจนถึงปลายปี 2566 มีรถยนต์ไฟฟ้าในจีน 20 ล้านคัน คิดเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งทั้งหมดของโลก ซึ่งรถยนต์เหล่านี้ต้องการใช้พลังงานจำนวนมหาศาล แต่พบว่า จีนประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานอย่างหนักในเกือบทุกช่วงฤดูร้อน

เรื่องนี้เป็นสิ่งเตือนใจรัฐบาลจีนเข้าแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะจำเป็นต้องหาวิธีรวมรถอีวีหลายล้านคันเข้าร่วมกับโครงข่ายไฟฟ้าที่มีอยู่

 

นีโอ ปูพรมขยายเครือข่าย VPP

การขยายเครือข่าย VPP ได้ร่วมมือกับเอกชน อย่างนีโอ บริษัทรถยนต์อีวีชั้นนำของจีน กำลังเปลี่ยนแปลงโครงข่ายชาร์จรถยนต์ของตนเอง โดยเมื่อเดือนที่แล้ว นีโอได้เปิดสถานีชาร์จ 10 แห่งในเซี่ยงไฮ้

สถานีเหล่านี้มีความพิเศษตรงที่ช่วยให้รถยนต์ป้อนพลังงานกลับเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าได้

นีโอยังมีสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่มากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ โดยบางส่วนเชื่อมกับโครงการนำร่อง VPP ในภาคตะวันออกของจีนแล้ว

‘โรงไฟฟ้าเสมือนจริง’ จีน - สหรัฐ แข่งปูพรมธุรกิจชาร์จอีวี ทำเงินให้ผู้ชาร์จ

 

สหรัฐ  นำจีน ใช้ระบบ VPP

ด้านรัฐบาลสหรัฐ ก็กำลังทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต VPP มากขึ้น 3 เท่าภายในปี 2573 ว่าไปแล้วกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวเทียบเท่าโรงงานเชื้อเพลิงฟอสซิล 80 - 160 แห่ง

ขณะเดียวกัน สหรัฐคาดหวังว่า แบตเตอรี่อีวี และโครงข่ายสถานีชาร์จรถ จะเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุดในการสร้างกำลังการผลิต VPP ของประเทศ

หากแต่อุปสรรคสำคัญของการนำ VPP มาใช้คือ การให้ผู้คนเข้ามาลงทะเบียนกันให้มากได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ ทั้งจีนและสหรัฐต่างใช้วิธีให้รางวัล เป็นเงินคืนกลับไป

ยิ่งชาร์จ ยิ่งได้

ภายใต้แนวคิดที่ว่า "โครงสร้างพื้นฐานการชาร์จแบบย้อนกลับ" ซึ่งเชื่อมโยงเครือข่ายขยายใหญ่ขึ้น เจ้าของรถยนต์อีวีหลายล้านคันสามารถสร้างรายได้ จากการชาร์จรถ เพราะได้มีส่วนผลิต และขายไฟฟ้าให้ผู้อื่น

ถึงอย่างไร ไม่แน่ใจว่า จะสร้างรายได้ให้กับผู้ใช้รถอีวีจีนได้มากแค่ไหน เพราะยังเป็นเพียงโครงการนำร่อง

แต่มีรายงานเกี่ยวกับโครงการ VPP ในสหรัฐว่า ช่วงฤดูร้อนปีหนึ่งๆ บ้านที่เข้าร่วมโครงการ VPP รัฐแมสซาชูเซตส์สามารถสร้างรายได้ประมาณ 550 ดอลลาร์ ขณะที่ผู้เข้าร่วมโครงการเดียวกันนี้ในเท็กซัส ได้เงินประมาณ 150 ดอลลาร์ต่อปี แม้จะไม่ว้าว แต่ก็เป็นค่าขนมจำนวนไม่น้อย

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงโครงข่ายไฟฟ้าในจีน จะต้องใช้เวลานาน แต่การพัฒนา VPP ร่วมกับเครือข่ายสถานีชาร์จอีวี ดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่เอื้อประโยชน์ทั้งภาครัฐและเอกชนจีน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศ

มีแนวโน้มว่า VPP จะช่วยให้จีนรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอีวี และเปิดพื้นที่ให้ใช้พลังงานกริดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินน้อยลง และคงได้เห็นโรงไฟฟ้าเสมือนจริงเพิ่มมากขึ้น ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ที่มา :  Technology Review